ถอดบทเรียน The Great Hack เมื่อข้อมูลของเราบงการความคิดและพฤติกรรมเราเอง

Warning Alert : มีการเปิดเผยเนื้อหาของสารคดี

ผมรู้ว่าข้อมูลจากกิจกรรมทางออนไลน์ของเรา ไม่ได้เลือนหายไปไหน และเมื่อผมขุดลึกลงไป ผมก็ได้ตระหนักว่า ร่องรอยดิจิทัลของพวกเรากำลังถูกเอามาทำเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี พวกเราตอนนี้ได้กลายเป็นสินค้าไปแล้ว

เดวิด แคร์โรล รองศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาดิจิทัลมิเดียและการพัฒนาแอพพลิเคชัน

ทุกกิจกรรมออนไลน์ของคุณ ได้สร้างร่องรอยทางดิจิทัลให้กับตัวคุณเอง และร่องรอยต่าง ๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มที่คุณใช้ ซึ่งอยู่ในรูปของโฆษณาบ้าง เนื้อหาที่ถูกนำเสนอในวิดีโอบ้าง หรือแม้แต่การนำเสนอรูปแบบของตัวหนังสือตามลักษณะที่คุณสนใจและคนอื่น ๆ ที่เหมือนกับคุณ หลายครั้งสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความคิดของตัวคุณเอง ทำให้คุณเชื่อโดยปราศจากการไตร่ตรอง และเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณในท้ายที่สุด

The Great Hack ภาพยนตร์สารดีที่ฉายทาง Netflix นำเสนอเรื่องราวของคดีประวัติศาสตร์ที่พูดถึง แคมบริดจ์ อะนาลิติกา (Cambridge Analytica) บริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง ที่ได้สิทธิ์อันไม่ชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 87 ล้านบัญชี และนำไปสู่การสร้างเนื้อหาบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้คนบางกลุ่มเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ตนต้องการ โดยคนกลุ่มนั้นเองไม่ทันได้รู้ตัวด้วยซ้ำ จนทำให้เราเกิดคำถามและตั้งข้อสังเกตในภายหลังว่า ในขณะที่เรากำลังท่องโลกอินเทอร์เน็ตและเพลิดเพลินบนแพลทฟอร์มที่เรียกว่า “โซเชียล มีเดีย” เรากำลังเปิดประตูให้คนกลุ่มหนึ่งเข้ามาฉกฉวยข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นๆ ในแบบที่เราไม่สามารถจินตนาการได้อยู่หรือเปล่า ?

แคมบริดจ์ อะนาลิติกา คือใคร ?

แคมบริดจ์ อะนาลิติกา เป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงจิตวิทยาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเมืองโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงเลือกตั้ง การคัดเลือกนโยบาย รวมไปถึงช่วยสร้างกลยุทธด้านการสื่อสารไปยังทุกช่องทางที่เราสามารถจินตนาการได้ ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก คือ การนำข้อมูลชาวอเมริกันจากแพลทฟอร์มเฟซบุ๊ก มาทำการวิเคราะห์เพื่อช่วยในการหาเสียงของประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ โดนัล ทรัมป์ จนได้รับชัยชนะเหนือ ฮิลลารี คลินตัน นอกจากนี้ แคมบริดจ์ อะนาลิติกา ยังเคยช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำแคมเปญรณรงค์แก่ประธานาธิบดีของเท็ด ครูซ ในปี 2016 ตลอดจนการรณรงค์เพื่อออกจาสหภาพยุโรปหรือที่เรียกกันว่า เบร็กอิท (Brexit) ของสหราชอาณาจักร

Credit : metro.co.uk

แคมบริดจ์ อะนาลิติกา ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทวิทยาการข้อมูล หรือบริษัทอัลกอริทึมอะไรเเบบนั้น มันเป็นการให้บริการกลไกโฆษณาชวนเชื่อเต็มรูปแบบ

คริสโตเฟอร์ ไวลี่ อดีตพนักงานของ แคมบริดจ์ อะนาลิติกา

แคมบริดจ์ อะนาลิติกา ได้รับอิทธิพลจากบก.เว็บไซต์ข่าวไบรต์บาร์ตด้วยแนวคิดที่ว่า “ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงรากฐานของสังคม อย่างแรกที่ต้องทำคือการทำลายมันซะ และเมื่อทำลายมันได้แล้ว คุณถึงจะค่อย ๆ สร้างสังคมใหม่ในทัศนคติของคุณขึ้นมาได้” ซึ่งรูปแบบการทำงานของแคมบริดจ์ อะนาลิติกา จะเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่พวกเขาจะสามารถหาได้ โดยเฉพาะจากสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถให้ได้ทั้งข้อมูลส่วนตัว อย่างชื่อ ที่อยู่ พฤติกรรมการเสพข่าวสาร นำมาวิเคราะห์พฤติกรรม และสร้างแนวทางการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายนั้นด้วย

พลังของข้อมูลผนวกกับสื่อออนไลน์สามรถเปลี่ยนพฤติกรรมเราได้ง่ายอย่างงั้นเลยหรือ ?

ยกตัวอย่างจากการหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ กระบวนการของ เเคมบริดจ์ อะนาลิติกา เริ่มต้นจากการสร้างแอพพลิเคชันบนเฟซบุ๊กเพื่อทำการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้ เนื้อหาในแอพพลิเคชันนั้นก็แสนจะธรรมดา นั่นคือ “แบบทดสอบบุคลิกภาพ” เพราะดูเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แถมเราส่วนใหญ่ชอบที่จะรู้ว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร เพื่อที่จะได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งในแบบสอบถามนั้นดูเหมือนจะไม่มีอะไรผิดแปลก แต่ภายใต้เงื่อนไขก่อนจะเริ่มทำแบบสอบถามนั้น ได้ระบุเพื่อขอเข้าถึงข้อมูลต่างๆของเรา ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลทั่วไป , ข้อมูลโพสต์ , ข้อมูลไลก์ , ข้อมูลเพื่อน และการเข้าถึงข้อมูลทั่วไปของเพื่อนเรา เพื่อใช้ในการสร้างโปรไฟล์เชิงจิตวิทยาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาขึ้น

หลังจากที่พวกเขาได้โปรไฟล์คนเหล่านั้นมาแล้ว แคมบริดจ์ อะนาลิติกา จะทำการแบ่งกลุ่มเพื่อดูว่ากลุ่มแบบไหนที่ตรงกับเป้าหมายที่พวกเขาต้องการ ในที่นี้คือกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะโหวตให้ฝั่งไหน ซึ่งพวกเขาเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า กลุ่มคนที่โน้มน้าวได้ (Persuadable) โดยทำการสร้างเนื้อหาพิเศษให้กับคนกลุ่มนี้ และเผยแพร่ไปในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบบล็อก เว็บไซต์ บทความ วิดีโอ โฆษณา ตลอดจนทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คุณสามารถนึกออก โดยเนื้อหาด้านในมีทั้งแบบให้ข้อมูลด้านดีชวนเชื่อของพรรคที่พวกเขาทำงานให้ แต่ที่รุนแรงที่สุดคือเนื้อหาที่เป็นข่าวปลอม (Fake News)  โจมตีพรรคฝั่งตรงข้าม เนื้อหาเหล่านี้จะถูกส่งและแสดงให้แก่กลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เห็น รับรู้ และเชื่อในแบบที่แคมบริดจ์ อะนาลิติกาอยากจะให้เป็น จนคนกลุ่มนั้นประพฤติไปในทางที่พวกเขาต้องการในที่สุด ดังเช่นชัยชนะของโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐอเมริกา ก็มาจากการส่งเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างพิถีพิถันให้กลุ่มคนนี้ และชักจูงให้เลือกลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์ในที่สุด

Credit : The Great Hack Trailer

ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานหรืออ้างอิงที่แน่ชัดนัก แต่ในสารคดีได้มีปรากฏภาพของอดีตนายก ชวน หลีกภัย ในปี 2540 พร้อมกับการบรรยายถึงกระบวนการของแคมบริดจ์อะนาลิติกาใช้ข้อมูลมาใช้รณรงค์ในการเลือกตั้งหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งกล่าวอีกว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อทดสอบกลลวง และโน้มน้าวผู้คน การปรากฏภาพประเทศไทยในเรื่อง อาจจะหมายถึงประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของกระบวนการนี้เช่นกัน

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ การเลือกตั้งภายในประเทศก็เต็มไปด้วยความเข้มข้น เพราะเป็นการทำสงครามด้านข้อมูลข่าวสาร ในตอนนี้พรรคใดก็ตามที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมของผู้รับข่าวสารได้มากกว่า ก็สามารถกุมชัยชนะได้อย่างไม่ต้องสงสัย หลายคนอาจจะรู้สึกพึงพอใจกับคำพูดของนักการเมืองบางท่าน รู้สึกเหมือนเขาพูดได้ตรงประเด็นที่เราชอบอย่างกับคนรู้ใจ อาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เหล่านี้ต่างเกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลของเราอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย กลั่นออกมาเป็นคำพูดที่ตรงใจเรา ณ ตอนนั้น และที่น่ากลัวคือบางกลุ่มถูกป้อนข่าวสารข้อมูลเท็จ (Fake News) จนเกิดเป็นความเชื่ออย่างหัวชนฝาว่าเป็นความจริง

สารดีนำเสนอให้เห็นว่าร่องรอยดิจิทัลที่เราทิ้งไว้ ได้ถูกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งนำไปสร้างอาวุธปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้สำเร็จ คำถามคือ เราเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อจากวิธีการเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เพราะวิธีการดังกล่าวทรงพลังมากพอที่จะสร้างภัยคุกคามต่อความสามารถในการตัดสินใจของเรา แม้ว่าการใช้ข้อมูลเพื่อนำเสนอสื่อชวนเชื่อเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่วไป แต่การนำเสนอสื่อชวนเชื่อให้ตรงกับความต้องการส่วนบุคคคลย่างลึกซึ่งนั้นยังไม่เคยมีใครทำอย่างแคมบริดจ์ อะนาลิติกามาก่อน ใครหลายคนอาจมั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถในการแยกแยะอยู่ในระดับสูง แต่ยิ่งเราใช้เวลาอยู่ในแพลทฟอร์มที่มีการปล่อยสื่อนั้นมากเท่าไหร่ ภาวะความเสี่ยงที่เราจะถูกโน้มน้าวก็ยังคงมีโอกาสเพิ่มได้มากขึ้นเรื่อยๆ

Credit : refinery29

นี่เป็นข้อคิดที่ได้เรียนรู้จากการดู The Great Hack สารคดีที่ชวนให้เราฉุกคิดและตั้งคำถามถึงความเป็นเจ้าของข้อมูลดิจิทัลของเรา รวมถึงหวนกลับมาดูภายใต้ข้อเสนอและเงื่อนไขที่ให้ได้มาซึ่งข้อมูลของเราก่อนที่เราจะยินยอม (Consent) ว่านำข้อมูลของเราไปใช้อย่างไรก่อนที่เราจะยอมรับ (Accept) เพราะข้อมูลที่เราคิดว่ามันดูไม่สำคัญอะไรมากมายนั้น ตอนนี้เราได้รู้แล้วว่ามีคนสามารถแปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาลได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราควรหันกลับมาพิจารณาตัวเองว่าเราเปิดเผยข้อมูลของเราต่อองค์กรเหล่านั้นง่ายเกินไปหรือเปล่า

แสดงความเห็น