เทรนด์ปี 2020 จะเกิดอะไรขึ้น?

ในปี 2019 ที่กำลังจะผ่านไป หลากหลายบริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีให้ทวีความฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลากหลายเทคโนโลยีก็ได้แสดงจุดยืนและศักยภาพของมันจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้เราได้ใช้งานกันแล้วในปีนี้ ขณะที่ในอีกหลายตัวก็ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ก็ได้มีการประกาศและทยอยแสดงเปิดเผยออกมาสู่สาธารณะชนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปี 2020 ที่กำลังจะมาถึง เรากำลังจะได้เห็นเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับบริการรูปแบบใหม่ที่จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันเราไปในทิศทางไหน ทางเราได้รวบรวม 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะกลายเป็นรากฐานในการใช้ชีวิตในอนาคต รวมถึงหยิบยกประเด็นสำคัญของเทคโนโลยีนั้น ๆ มาเล่ากันให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกัน ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย!!

Facebook Horizon คอมมิวนิตี้แห่งอนาคต

Credit: www.oculus.com/facebookhorizon

หากใครเคยได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One ก็สามารถนึกภาพและเข้าใจแนวคิดของบริการใหม่นี้ได้ไม่ยาก ตามที่พวกเราเคยได้ข่าวมาว่า Facebook เข้าซื้อบริษัท Oculus VR แต่ก็ไม่เห็นจะมีผลิตภัณฑ์อะไรเคลื่อนไหวออกมาสักระยะแล้ว ล่าสุดได้ประกาศเปิดตัว Facebook Horizon นี้อย่างเป็นทางการ แล้วมีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2020 นี้ ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้นสามารถรับชมได้จากวิดีโอด้านล่างนี้ได้เลย

Facebook Horizon เป็นโลกเสมือนจริงบนแพลตฟอร์มของ Oculus VR กล่าวคือ การเข้าสู่โลกของ Horizon จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ที่เป็นแว่น VR ในการเชื่อมต่อ ภายในโลกเสมือนนั้นจะมีสถานที่ต่างๆให้เราไปเยี่ยมเยือน อีกทั้งยังสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย และยังสามารถทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นที่เชื่อมต่อกับ Horizon ได้อีกด้วย

Facebook Horizon จะเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันเราอย่างไรบ้าง

ประสบการณ์ที่เรากำลังจะได้รับหาก Facebook Horizon สามารถให้บริการผู้คนได้อย่างแพร่หลาย ทุกรูปแบบกิจกรรมของเราจะมีความเปลี่ยนแปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่งผ่านโลกเสมือน เช่น การจับจ่ายใช้สอย แทนที่เราจะคลิกบนเว็บไซต์หรือแอพลิเคชัน เราสามารถเข้าไปดูสินค้าผ่านโลกเสมือนได้ก่อนตัดสินใจซื้อ

การดูหนัง ที่เราไม่จำเป็นต้องไปดูหน้งที่โรงหนังเพื่อสัมผัสบรรยากาศที่อาจจะมีปัจจัยไม่พึงประสงค์หลายอย่างเกิดขึ้น แต่เราสามารถทำได้ผ่านแพลทฟอร์มนี้

การจำลองการทำกิจกรรมก่อนปฏิบัติจริง เพื่อช่วยให้เราชำนาญในการทำกิจกรรมนั้นมากขึ้น อย่างเช่น วาดรูป เล่นกีตาร์ ขับรถ ขี่ม้า ขับเครื่องบิน เป็นต้น

รูปแบบของการเล่นเกม ที่เราสามารถเล่นเกมร่วมกับคนอื่น และสัมผัสประสบการณ์เหมือนเราเข้าไปอยู่ในเกมนั้นจริง ๆ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ยังคงอยู่ในวิสัยทัศน์ของ Facebook คือ การเชื่อมทุกคนให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ต้องคอยดูกันว่า Facebook Horizon จะได้รับเสียงตอบรับไปในทิศทางใด

Libra สกุลเงินสากลที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก

Credit: https://www.france24.com/

Libra เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่คนพูดถึงเป็นกระแสเป็นอย่างมากในปี 2019 นี้ พูดโดยสรุปแล้ว คือ สกุลเงินดิจิทัลที่สามารถใช้กันได้ทั่วโลกที่พัฒนาโดย Facebook และมีอัตราการผันผวนเกือบเป็นศูนย์ ไม่มีการเพิ่มหรือลดของมูลค่ามากนัก ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงการทำธุรกรรมของคนทุกคน โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา ที่พิเศษคือ ค่าธรรมเนียมถูกมากจนเรียกว่าฟรีก็ว่าได้ เพื่อจะได้เห็นภาพได้ง่าย เราลองมาชมวิดีโออธิบาย Libra ฉบับเข้าใจง่าย จากวิดีโอด้านล่างกันนี้กัน

แน่นอนว่า Facebook ลงมาเล่นเองแบบนี้ มีหรือจะไม่นำ Libra ไปใช้กับระบบของตัวเอง โดยได้พัฒนาระบบวอลเล็ตขึ้นมาเรียกว่า Calibra ซึ่งในปี 2020 จะเปิดใช้งานทุกระบบของ Facebook ไม่ว่าจะเป็น Messenger, Instagram และ Whatapps

Libra ไม่ได้ถูกควบคุมโดย Facebook โดยตรง ยังมี partners อีกกว่า 27 ราย รวมกันจัดตั้ง Libra Association ที่เข้ามาเป็น validator node ในการยืนยันข้อมูลการใช้จ่าย ถึงแม้แนวคิดของ Block chain คือ การ decentralized แต่จากโครงสร้างของ Libra ดูเหมือนจะไม่ใช่แบบนั้นเลยสักนิด เพราะอำนาจจริงๆ ก็ centralized ไปอยู่ที่พวกเขาทั้ง 27 รายนี่ไงล่ะ

Libra กับบทบาทของอนาคตการเงินโลก

ตัว Libra จะมีความง่ายในการทำธรุกรรมและการเข้าถึงเนื่องถูกออกแบบมาจากแนวคิดสกุลเงินดิจิทัล ขอแค่มีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เราก็สามารถเข้าถึงบริการได้ไม่ยาก หากเปิดตัว และหาจุดยืนในตลาดการเงินโลกได้สำเร็จ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นอุตสาหกรรมการเงินอย่างธนาคาร เพราะข้อมูลการใช้จ่ายจะไม่อยู่ในมือของธนาคารกลางหรือรัฐลาลอีกต่อไปแล้ว แต่จะมีผู้ร่วมเกมใหม่อย่างองค์กรเอกชนเหล่านี้ร่วมถือครองข้อมูลเข้ามาเพิ่ม ดังนั้นอำนาจในเกมจะตกอยู่ในมือขององค์กรเหล่านั้นด้วยเช่นกัน การกำกับดูแลในเรื่องของดอกเบี้ยจะทำได้ยุ่งยากมาก เพราะมีปัจจัยใหม่เข้ามาเพิ่มนั่นคือสกุลเงินของ Libra

สิ่งที่ Libra ต้องพิสูจน์ต่อในอนาคตคือความปลอดภัย ถึงแม้จะมีการทำ KYC เช่นเดียวกับธนาคาร แต่สิ่งที่น่ากังวลคือตัวโครงสร้างของระบบที่ควบคุมและมีสิทธิ์เด็ดขาดโดยเศรษฐี 27 ราย แม้ในอนาคตอาจจะเพิ่มมากกว่านั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าปลอดภัยเท่ากับธนาคาร ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือมายาวนานกว่า ต้องรอดูกันต่อว่า Libra Association จะมีมาตรการในการจัดการแบบไหน และต้องมาคอยดูกันว่าฝั่งรัฐบาลจะปล่อยให้เปิดใช้บริการผ่านฉลุยในปีหน้าหรือไม่

Neuralink การรวมกันของมนุษย์และแมชชีนผ่านสายสื่อประสาท

Credit : https://tottnews.com/

เราคงคุ้นเคยกับหนังเรื่อง Sci-Fi หลายเรื่องที่มีการใช้สมองสั่งการเครื่องจักรผ่านอุปกรณ์บางอย่าง สมัยนั้นถ้านึกถึงความเป็นจริงคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะเกิดขึ้นและดูไกลตัวมาก แต่ล่าสุดมันกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว อีกทั้งยังมีการพัฒนาและพยายามทำมานานแล้ว

ความพยายามนี้ไม่ได้มาจากใครที่ไหน มาจาก Elon Musk เจ้าพ่อด้านเทคโนโลยีคนหนึ่งของโลก โดยความต้องการของ Elon คือ การพัฒนาระบบเส้นใยประสาทเพื่อให้สามารถใช้เชื่อมต่อเข้ากับระบบของแมชชีน และแปลงความต้องการของมนุษย์ให้เป็นคำสั่งในเชิงคอมพิวเตอร์ สั่งการแมชชีนนั้น ๆ ผ่านกระบวนการส่งสัญญาณของเซลล์ประสาทในสมอง อ่านแล้วอาจจะนึกภาพตามได้ยาก เราลองมาชมวิดีโอด้านล่างนี้กันดีกว่า

แม้ความพยายามของ Musk ในการอ่านข้อมูลจากสมองไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เคยมีกรณีที่ผู้ป่วยเป็นอำมพาตจากอุบัติเหตุสามารถสั่งการคอมพิวเตอร์ผ่านทางสมองได้ตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของวงการนี้ให้มีการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ด้วยข้อจำกัดในสมัยนั้นในการส่งข้อมูลมหาศาลจากสมองไปยังคอมพิวเตอร์ยังทำได้ไม่ดีพอ Neuralink จึงเป็นเวอร์ชันที่พัฒนาและก้าวข้ามขีดจำกัดนั้น

ด้วยวิธีการส่งสัญญาณเซลล์ประสาทในสมองผ่าน Thread ที่ตามคำยืนยันว่าสามารถรับสัญญาณของเซลล์ประสาทได้มากกว่า ทำให้รองรับการส่งข้อมูลปริมาณมากได้ อีกทั้งวิธีการในการฝังเส้นด้ายนี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสมองโดยตรง ทำให้การติดตั้งค่อนข้างปลอดภัย

ถ้า Neuralink ไปได้สวย จะเกิดอะไรขึ้น 

ยกตัวอย่างจากในวิดีโอที่เราทิ้งไว้ให้ด้านบน หากเทคโนโลยีนี้ไปได้สวย เราสามารถเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรได้ไวมากขึ้น เพราะเราสามารถค้นหาและซึมซับข้อมูลมหาศาลได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการอ่านแล้วค่อยนำมาประมวลผล แต่เราโหลดเข้าสมองและประมวลผลได้เลย หรือสามารถใช้เเมชชีนช่วยในการประมวลผลได้อีกด้วย เป้าหมายแรกที่ Musk วางเอาไว้ คือ การช่วยเหลือและรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านสมอง โดยให้ AI เข้ามาช่วยประมวลผล

อะไรที่เราควรจะเป็นกังวลกับ Neuralink ?

อ่านประเด็นที่ดีกันแล้ว ทีนี้ลองมาดูประเด็นที่น่ากังวลกันบ้าง ประเด็นแรกคือผลกระทบต่อร่างกายว่ามีความปลอดภัยเพียงใด เพราะเรากำลังจะเชื่อมต่อร่างกายที่เป็งเชิงชีวภาพ เข้ากับแมชชีนที่เป็นคอมพิวเตอร์จะนำไปสู่การได้รับไวรัสคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบประสาท หรือโดนแฮคสมองได้หรือไม่ หากทำได้ เราอาจจะถูกเชิดหรือสั่งการจากคนภายนอกให้กระทำการอะไรบางอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้

ประเด็นถัดมา คือ ประเด็นเรื่องพฤติกรรมที่อาจจะเปลี่ยนไปของผู้ใช้งาน ผลกระทบที่เกิดเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดปัญหาทางสภาพจิตใจตามมาหรือไม่ หรือมีการนำไปใช้ในจุดประสงค์ที่เลวร้ายหรือไม่ ถ้าไม่ได้มีการมีวางกฏเกณฑ์และแนวทางการรับมือที่ดี เราอาจจะได้เห็นการก่อจราจลรูปแบบใหม่ ที่คนร้ายควบคุมเครื่องจักรเข้าทำร้ายมนุษย์

ประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องของความปลอดภัยด้านข้อมูลและสิทธิของผู้ใช้ เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกฝังลงไปกับตัวของผู้ใช้และเชื่อมต่อเข้ากับระบบ คำถามที่น่ากังวลคือข้อมูลนั้นเป็นของเราแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ แล้วใครสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราหลังเชื่อมต่อเข้ากับอุุปกรณ์นี้แล้วได้บ้าง รวมถึงชนชั้นวรรณะที่อาจจะถูกแบ่งแยกมากขึ้นด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ แน่นอนกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าวมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้ไปได้ไกลกว่าเดิม แต่กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ล่ะ พวกเขาก็จะถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ จะเกิดเป็นช่องว่างระหว่างสังคมที่มากขึ้นก็ได้

อย่างไรก็ตาม Neuralink ยังพอมีเวลาในการพัฒนาในส่วนประเด็นต่างๆข้างต้น และยังคงมีอีกหลายประเด็นที่เรายังไม่ได้กล่าว ต้องคอยติดตามกันต่อ ว่าพวกเขาจะได้ผลตอบรับอย่างไร

5G เทคโนโลยีที่ไม่ได้มีดีแค่ความเร็ว

Credit: www.standard.co.uk

ในยุคที่ประชากรส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระ คงเดากันได้ไม่ยากเลยว่า 5G นั้นคืออะไร กล่าวคือ 5G ที่เราเรียกกันอยู่นี้ย่อมาจาก 5th Generation of Mobile Cellular Network Technology  ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ 4G ที่เรากำลังใช้กันอยู่  ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีกับการใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงบนสมาร์ทโฟน ซึ่งบริษัทด้านการสื่อสารที่เป็นเจ้าของเครือข่ายหลายเจ้าทั่วโลกก็ได้ทำการเตรียมพร้อมให้สามารถรองรับการมาของ 5G ที่กำลังจะในปีหน้ากันแล้ว โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของ 5G มีดังนี้

  • ความเร็วมากกว่า 4G ถึง 10-20 เท่า
  • รองรับจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า
  • ความเร็วในการตอบสนองเหลือเพียง 0.001 วินาที หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ มีความหน่วงต่ำมาก
  • ใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยลงถึง 90 เปอร์เซ็น ยืดอายุการใช้งานให้แบตได้นานกว่า 10 ปี
  • ความถี่ในการใช้งานที่กว้างขึ้น เพราะใช้ได้ถึง 30 GHz จากเดิมที่ 4G มี 3 GHz

โดยผู้บุกเบิกการใช้งาน 5G คือ ประเทศจีน ด้วยการนำการพัฒนาด้านโครงข่ายของหัวเว่ย (Huawei) เราลองมาดูความตัวอย่างการใช้งานจริงในประเทศจีนผ่านวิดีโอด้านล่างนี้กันดีกว่า

5G จะมาเปลี่ยนอะไรกับชีวิตเราบ้าง

ข้อดีที่เราพอจะจินตนาการได้อย่างไม่ยากจากเจ้า 5G นี้ก็คือความเร็ว ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเอื้อประโยชน์นวัตกรรมอื่น ๆ มากมาย อย่างเช่น รถยนต์ไร้คนขับ ที่เราจะใช้ในการสำรวจตามพื้นที่ต่างๆ และส่งข้อมูลที่จำเป็นในการวิเคราะห์ผลกลับมาหาส่วนกลางได้อย่างรวดเร็ว

ทางด้านการแพทย์ ยกตัวอย่างการผ่าตัดระยะไกลที่น้องเตอเติลพูดในวิดีโอ เพื่อช่วยชีวิตชาวบ้านที่อยู่ในถิ่นที่ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านเวลา หรืออุปกรณ์ด้วย แต่ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวที่นอกเหนือจากความเร็วแล้ว สัญญาณยังครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขึ้น เพียงส่งรถพร้อมอุปกรณ์ไปยังบริเวณดังกล่าว อันจะช่วยประหยัดได้ทั้งเวลา และลดความเหนื่อยล้าที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลากรทางการแพทย์ด้วย

ด้านการขนส่งทางไกลเองก็สามารถทำได้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งของผ่านการใช้โดรน ช่วยลดปริมาณรถบนท้องถนน และสามารถลดเวลาในการขนส่งได้มากกว่าครึ่งและขนส่งได้ตลอดเวลา

ทั้งยังจะช่วยผลักดันการใช้ VR และ AR จากหลายปีที่ผ่านมาไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่นัก เราจะสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำกิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น เช่น การสำรวจภาคสนาม หรือสารธารณสุขทางไกล ออฟฟิศอัจฉริยะ รูปแบบการเรียน การช้อปปิ้งออนไลน์ ระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็๋นต้น

Starlink กับโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่จะครอบคลุมทั่วโลก

อีกหนึ่งโปรเจคของเจ้าพ่อแห่งวงการเทคโนโลยี Elon Musk คือ Starlink อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่มาจากการสร้างของบริษัท SpaceX เป้าหมายของโครงการนี้คือการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้อีกหลายพันล้านคน ซึ่งมีจุดเด่นที่ความเร็วที่มีการยืนยันว่าสูงมาก สามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆได้ทั่วโลก และในราคาถูก โดย Elon วางแผนจะนำ Starlink ขึ้นสู่วงโคจรกว่า 12,000 ชุด ภายใน ปี 2027  (เมื่อวันที่ 12 พย. 2562 ที่ผ่านมาก็ได้มาการปล่อยดาวเทียมขึ้นไปเพิ่ม)  ด้วยการใช้ตรวด Falcon 9 ซึ่ง จรวด 1 ลำ สามารถบรรจุดาวเทียมได้ 60 ชุด และเตรียมพร้อมให้บริการสหรัฐและแคนาดาในปี 2020 นี้

Credit: spacex.com

ความจริงที่ว่าประชากรหลายพันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในความไม่เท่าเทียมกันด้านสังคม เพราะอินเทอร์เน็ตได้พิสูจน์แล้วถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล และเป็นช่องทางการสื่อสารกับคนอื่นๆ ที่ไร้ขอบเขต ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของเรา สร้างความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและมีส่วนในการสังคมสังคมให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ Starlink เกิดไปได้สวย ?

ถึงแม้ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยมาตอนนี้ยังมีน้อยมากสำหรับโครงการ Starlink แต่ที่พอจะคาดการณ์ได้ คือ การเปลี่ยนแปลงด้านโทรคมนาคมจะถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะมีคู่แข่งใหม่เป็นโครงข่ายที่อยู่เหนือพื้นผิวโลก แถมอาจจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งในอนาคตจะไม่ได้มีเพียง SpaceX ยังมีผู้เล่นอื่นอย่าง Amazon , Google รวมถึง Facebook ที่จะเข้ามาในตลาดโครงข่ายใหม่อันนี้

คำถามถัดมา คือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากประชากรที่เพิ่มขึ้นมา แน่นอนว่าความเท่าเทียมจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และน่าสนับสนุน แต่สำหรับการใช้งานในอนาคต ข้อมูลยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ารูปแบบริการจากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตดาวเทียมสำหรับผู้ใช้อีกหลายพันล้านคนจะเป็นรูปแบบเดียวกับเราหรือไม่ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้กว่าพันล้านคนนั้นจะเป็นอย่างไร จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ด้วยกันขนาดไหน ประเด็นเหล่านี้ยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัดนัก

สำหรับ 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่หยิบยกมาร้อยเรียงผ่านความเห็นของผู้เขียนเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 และอาจจะกลายเป็นรากฐานในการพัฒนาในอีกหลายๆเทคโนโลยีถัดไปอีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้า หลายเทคโนโลยีที่เคยดับอาจจะกลับมาเปรี้ยงหลังจากการวางรากฐานนี้ รวมถึงอาจจะพัฒนาต่อยอดได้มากกว่าที่เคย เป็นที่น่าสนใจและน่าติดตามดูกันต่อว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แสดงความเห็น