โลกอนาคต จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง?

พูดถึงอนาคตแล้วนึกถึงอะไรกันบ้างคะ? นึกถึงเทคโนโลยีล้ำ ๆ นึกถึงที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป นึกถึงชีวิตที่ทุกอย่างง่ายไปหมด หรือเราจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์? อนาคตจะเป็นยังไงไม่มีใครทำนายได้ แต่สุดท้ายแล้ว “การทำนายอนาคตที่ดีที่สุด คือการสร้างมันขึ้นมาเอง” 

แล้วเราจะสร้างโลกอนาคตให้ดีได้อย่างไร? วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปมองแนวคิดการสร้างโลกอนาคตผ่านแง่มุมของ Speaker ชื่อดังจากงานสัมมนา Future Maker Night ที่จะพาเรานั่งไทม์แมชชีนข้ามเวลา และทำนายอนาคตไปพร้อมกัน…

อนาคตเราอาจจะต้องย้ายถิ่นฐาน (ออกไปนอกโลก)

หัวข้อแรก “Future of Bangkok and Our Habitat” โดย ดร.การดี เลียวไพโรจน์ Chief Advisor of FutureTales Lab, MQDC พูดถึงเรื่องเมืองและถิ่นที่อยู่ของเรา ถ้าเราได้ติดตามข่าวในช่วงหลายปีมานี้ก็จะเห็นว่าโลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะมลภาวะที่นับวันจะยิ่งมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ หรือ Climate Change ทำให้กรุงเทพฯ และอาจรวมถึงทั่วโลกด้วยนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 50 ปี ก่อนจะเผชิญสถานการณ์สุดโต่ง โดย ดร.การดี คาดการณ์ไว้ 3 แบบ

  • Indoor City: เมืองในร่ม ที่เป็นเมืองในพื้นที่ปิดโดยอากาศข้างในเย็น แต่ข้างนอกมลภาวะทางอากาศสูงมากจนอยู่อาศัยไม่ได้ 
  • Float City: เมืองลอยน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นจากแผ่นดินทรุดตัวจนจมน้ำ
  • The Great Migration: การย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่การย้ายข้ามเมืองหรือข้ามประเทศธรรมดา แต่เป็นการ “ย้ายออกไปนอกโลก”

แม้สถานการณ์เหล่านี้อาจฟังดูน่ากลัว แต่อย่างที่บอกว่าเราสามารถสร้างอนาคตเองได้ ยังไม่สายที่จะสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองไร้มลภาวะ (Carbon positive) ช่วยกันลดมลพิษและร่วมสร้างพื้นที่สีเขียว แล้วใช้ชีวิตต่อได้โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน  สิ่งที่สำคัญก็คือถ้าเราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่ทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่เท่านั้น แต่ต้องทำให้ทุกเมืองน่าอยู่เท่า ๆ กัน

อนาคตของ Smart City ที่เริ่มจากตัวเอง

มุมมองการสร้าง Smart City โดย คุณกังวาน เหล่าวิโรจนกุล Co-Founder ขอนแก่นพัฒนาเมือง ในหัวข้อ “How to live in our country with hope” ซึ่งกรณีศึกษาที่ยกมาเล่าคือการสร้างขอนแก่นให้เป็น Smart City โดยกุญแจความสำเร็จของขอนแก่น Smart City อาจแบ่งได้คร่าวๆ เป็น 2 ส่วน

  1. ความร่วมมือสำคัญที่สุด โดยมี “รัฐร่วม เอกชนเป็นประธาน” 
  • ตั้งบริษัทจำกัดที่เทศบาลถือหุ้น 100% แบบ KKTS
  • จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการผลักดันนโยบายจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 

2. ศึกษาและวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยทำทุกอย่างควบคู่กันไปพร้อมๆ กัน  

  • วางแผน Smart City สำหรับอีก 12 ปีข้างหน้า และบรรจุในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด
  • ระดมทุนเอง เช่น การทำ ICO เพื่อไม่ให้เป็นหนี้สาธารณะในอนาคต ถ้าระดมทุนสำเร็จ เงินส่วนนี้จะกลับมาที่เทศบาล และสามารถใช้ทำโครงการอื่นๆ พัฒนาเมืองในเฟสต่างๆ ต่อไปในอนาคต
  • ทำโครงการฟื้นฟูย่านเมืองเก่า
  • คุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตั้งกองทุน กระจายความมั่งคั่งให้ผู้มีรายได้น้อย ในการสร้างสังคมที่เติบโตอย่างยั่งยืน

นี่คือตัวอย่างของการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือจากใครเพียงอย่างเดียว และเป็นโมเดลที่น่าสนใจเพื่อนำไปพัฒนา Smart City อื่น ๆ ต่อไป

อนาคตที่ AI ฉลาดขึ้นทุกวัน (เราต้องทำยังไง?)

เมื่อมองไปรอบ ๆ ตัวเราจะเห็น AI เข้ามาช่วยงานมนุษย์ในหลาย ๆ ด้านแล้ว จนกลายเป็นความน่ากลัวที่ว่าอนาคต AI จะมาแย่งงานเราไปจนหมด แล้วเราควรจะทำอย่างไรเพื่อต่อสู้กับ AI ที่ฉลาดขึ้นทุกวัน? คุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์สหโอสถ มาตอบคำถามนี้ให้เราในหัวข้อ “Future of self” 

คำตอบก็คือเราจะต้อง “เรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ Life Long Learning ภายในปี 2022 ทุกคนจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ทุก ๆ 101 วัน เพราะ “ทักษะ” กำลังหมดอายุเร็วขึ้นทุกวัน โดยทักษะกลุ่มแรกที่จะหมดอายุก่อนคือ Hard Skill ที่เป็นความรู้ทั่วไปอย่างการพิมพ์งาน ขนของ ทำอาหาร ฯลฯ เพราะหุ่นยนต์สามารถทำแทนได้แบบสบาย ๆ ส่วนทักษะกลุ่ม Soft Skill เป็นทักษะที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก AI ทำตามได้ยาก เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และ “Meta Skill” ทักษะใหม่ที่เกิดมาเพื่อความเปลี่ยนแปลง กระตือรือร้น พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต คือทักษะสำคัญที่คนทำงานต้องมี

โดยการเรียนรู้ตลอดชีวิตทำได้ตามกระบวนการ 4 ระดับดังนี้ 

  • ลงมือทำ 
  • หาฟีดแบ็ก 
  • สรุปผล 
  • ลองทำใหม่ (วนไปเรื่อย ๆ)

สุดท้าย ไม่ว่า AI จะพัฒนาไปแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าอย่างไรเราก็จะสามารถ อยู่ต่อได้ในโลกอนาคต

ถอดรหัสความสำเร็จ China 5.0

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เขียนหนังสือ China 5.0 มาบรรยายในหัวข้อ “ถอดรหัสความสําเร็จ China 5.0” ทำให้เราเห็นว่าก่อนจีนจะเป็นมหาอำนาจได้ขนาดนี้ ผ่านอะไรมาบ้าง โดย “เติ้งเสี่ยวผิง” อดีตผู้นำสูงสุดของจีนคือผู้สร้างจุดเปลี่ยนให้กับประเทศ ผ่านอุปสรรคมามากมาย ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือการที่ประเทศจีนเต็มไปด้วยคนยากจน 

เติ้งเสี่ยงผิงจึงใช้วิธี “คลำก้อนหิน ข้ามแม่น้ำ” ที่หมายถึงการค่อย ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยหลักการของเติ้งเสี่ยวผิงมีอยู่ 4 ข้อ

  • เริ่ม…อย่ารอ
  • ลอง..เพื่อรู้
  • เดินไปข้างหน้า…ถูกทิศทาง 
  • ค่อยเป็นค่อยไป…แสวงหาแนวร่วม

หนึ่งในความสำเร็จของเติ้งเสี่ยวผิงและจีนก็คือ “เมืองเซินเจิ้น” ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น Silicon Valley แห่งเอเชียในปัจจุบัน เมื่อเซินเจิ้นเจริญขึ้นก็กระตุ้นให้เมืองอื่น ๆ อยากเติบโตขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางใหม่ และตลอดช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญที่ทำให้จีนก้าวไปไกลคือ DNA ของรัฐบาลและเอกชน ดังนี้

  • Experimentation: การลองผิดลองถูก 
  • Competition: เชื่อในกลไกการแข่งขัน 
  • Creative destruction: การทำลายอย่างสร้างสรรค์ สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนของเก่า

และนับตั้งแต่สถาปนาประเทศ จีนก็ไม่เคยหยุดพัฒนา แต่พัฒนาด้วยแนวทางที่ต่างกันเพราะ “การปฏิรูปไม่มีสูตรตายตัว” สิ่งที่เคยสำเร็จในอดีตอาจไม่ได้ผลเสมอไปและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอดทำให้ “การปฏิรูปไม่มีวันสิ้นสุด” 

สิ่งที่(อาจ)จะเกิดขึ้นใน 20 ปีข้างหน้า

หัวข้อ “Singularity จุด สิ้น สุด” นี้ เจ้าของเพจชื่อดังอย่าง “ลงทุนแมน” มาบรรยายและชวนเราขบคิดเรื่องอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งสรุปได้ดังนี้

  • 20 ปีข้างหน้า…เราจะตกแต่ง Gene ของลูกได้ 

ถ้าเลือกได้เราคงอยากที่จะให้ลูกเราแข็งแรง ฉลาด หน้าตาดี ในอนาคตเราทำได้แน่นอน เพราะนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนทำสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว ด้วยการทำให้เด็กที่เกิดมามีภูมิคุ้มกัน HIV (แต่ทั่วโลกยังไม่ยอมรับการตกแต่งยีนส์)

  • 20 ปีข้างหน้า…พ่อแม่เราจะกลับมาเดินได้ 

พ่อแม่ของเราไม่จำเป็นต้องนั่งรถเข็นอีกต่อไป เส้นประสาทที่ถูกกดทับ จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ 

  • 20 ปีข้างหน้า…เราจะติดต่อกันได้โดยไม่ต้องพิมพ์ ไม่ต้องพูด 

หลายบริษัทกำลังคิดค้นวิธีการติดต่อสื่อสารกันได้โดยที่ไม่ต้องพิมพ์ ไม่ต้องพูด แต่สื่อสารกันผ่านความคิด 

  • 20 ปีข้างหน้า…AI จะฉลาดกว่ามนุษย์

ปัจจุบัน AI ก็ฉลาดกว่ามนุษย์ในหลาย ๆ เรื่องแล้ว อย่าง Alpha Go ที่ล้มแชมป์หมากล้อมได้ จึงไม่ยากเลยที่อนาคต AI จะฉลาดกว่ามนุษย์

  • 20 ปีข้างหน้า…เราอาจมีชีวิตได้ตลอดไป 

เมื่อไม่นานนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ทดลองเพาะตัวอ่อนจากเซลล์ผิวหนัง แล้วเอามาเพาะเลี้ยงใน “รกเทียม” ซึ่งช่วยให้ตัวอ่อนมนุษย์เติบโตนอกร่างกายมนุษย์ได้ หมายความว่าเราสามารถสร้างมนุษย์ที่เป็นตัวเราอีกคนขึ้นมา และนี่อาจเป็นจุดเริ่มสู่การเปิดทางให้เรามีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป

อนาคตของสื่อที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น

“ไม่ต้องเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน แต่เป็นบางสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับคนบางกลุ่มก็พอ”

ยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า และทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้ผ่านอินเทอร์เน็ตทุกที่ ทุกเวลา แล้วสื่อเก่าอย่างนิตยสาร โทรทัศน์ หนังสือ จะยังอยู่ได้หรือเปล่า? คุณจักรพงษ์ คงมาลัย MD of Moonshot Digital, Co-Founder Thumpsup & RaiNmaker ชวนมาหาคำตอบเรื่องนี้ในหัวข้อ “Niche is the New Mainstream: ชวนคุยภูมิทัศน์สื่อ 2020” 

และคำตอบของเรื่องนี้คือ สื่อเดิมไม่ได้หายไป แต่จะมีความเฉพาะกลุ่ม (Niche) มากยิ่งขึ้น ต่างจากเดิมที่สื่อมีความ Mass เข้าถึงได้ทุกคน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เดิมเรานิยมใช้รถม้าในการเดินทาง แม้ปัจจุบันจะไม่แล้ว แต่รถม้ายังคงอยู่ อาจจะอยู่ในรูปแบบของของที่ระลึกหรือรถม้าสำหรับนักท่องเที่ยว สื่อก็เหมือนกัน นั่นหมายความว่าสื่อจะอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ถ้ายังคงทำคอนเทนต์ที่มีคุณค่า และมีความหมายสำหหรับคนบางกลุ่ม

อนาคตของอุตสาหกรรมไทย

เมื่อไรประเทศไทยถึงจะหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง? คุณธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ Former EVP กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท, Leader of FWP จะมาตอบคำถามนี้ให้เราในหัวข้อ “The future of Thai industries” โดยให้คีย์หลักก็คือ เราจะต้องสร้าง “มูลค่า” ขึ้นเพื่อให้หลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการเริ่มจากเข้าใจแนวโน้มและนำเทคโนโลยีมายกระดับศักยภาพ เพื่อสร้างสิ่งที่โลกต้องการ ซึ่งไม่เพียงเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจอย่างเดียว แต่จะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้คนในประเทศต่อไป 

และแน่นอนว่าการสร้างมูลค่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ถ้าลองมองภาพกว้างในระดับประเทศแล้ว การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้น สามารถทำได้หลากหลายด้าน เช่น การใช้เทคโนโลยีในการอบข้าว เพื่อควบคุมความความชื้น แทนการตากแบบเดิม การวางระบบขนส่งมวลชนให้เชื่อมต่อกัน ฯลฯ และสิ่งที่สำคัญกว่าการสร้างมูลค่า ก็คือการที่ทุกคนต้องกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและเชื่อมั่นว่าตัวเองมีศักยภาพมากพอ เพราะ “สิ่งที่เราต้องกลัว ไม่ใช่กลัวว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วเกินไป แต่มันจะสายเกินการณ์ ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง” 

อนาคตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ตอนนี้ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) แล้ว และกำลังจะขยายเป็นสังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในอีก 12 ปีข้างหน้า เหมือนญี่ปุ่นในตอนนี้ ซึ่งเป็นอนาคตที่ไม่ไกลเลย แล้วใครจะเป็นคนดูแล? คุณกรณ์ จาติกวณิช Former Chairman สมาคมไทยฟินเทค ชวนเรามาคิดประเด็นนี้ในหัวข้อ “Old Problem, New Solution” โดยผลสำรวจในไทยเรื่องใครจะดูแลผู้สูงวัย 60% ตอบว่าหวังพึ่งรัฐบาล แล้วรัฐบาลดูแลได้จริงหรือเปล่า…

จากงบปี 2563 รัฐบาลจะจัดสรรเงิน 4.6 แสนล้านบาท เพื่อดูแลคนแก่ 11 ล้านคน โดยแบ่งเป็นข้าราชการวัยเกษียณ 2 ล้านคนได้เงินบำนาญ 20,000 บาท/เดือน ประชาชนทั่วไป 10 ล้านคน ได้เงิน 1,000 บาท/เดือน ถ้าอยากให้คนทั่วไปที่เกษียณแล้ว มีรายได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำที่ 10,000 บาท/เดือน ต้องใช้เงินราว 1.2 ล้านล้านบาท แม้การปรับขึ้นภาษีจาก 15% เป็น 20% จะทำให้รัฐมีรายได้สำหรับดูแลผู้สูงวัยทั้งหมดได้ทันที แต่เราควรทำเช่นนั้นจริงหรือเปล่า?

ส่วนหนึ่งที่ควรเพิ่มคือภาษีทรัพย์สิน เพราะหากเก็บเพียง 1% จากมูลค่าทรัพย์สินทั้งประเทศอย่างน้อย 67 ล้านล้านบาท ก็จะมีรายได้เพิ่มถึง 670,000 ล้านบาท และเงินส่วนนั้นก็สามารถเอาไปทำอะไรให้กับสังคมได้อีกเยอะทีเดียว

ทั้งนี้เราจะต้องช่วยกันรับมือสังคมสูงวัย หาทางเพื่อไปต่อขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไม่หยุด โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แสดงความเห็น