โลกอาจร้อนน้อยลง เมื่อเราปิดกั้นแสงอาทิตย์ได้

ปัญหาภาวะโลกร้อน อยู่กับเรามาอย่างยาวนานและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งในยุคที่โลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมหลายประเภทก็เริ่มผุดขึ้นมามากมายเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเราทุกวันนี้ หนำซ้ำตัวเราเองก็เป็นผู้สร้างมลพิษที่มากขึ้นทุกวันโดยไม่รู้ตัว 

ในปี 2020 ที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้น ทำให้ตอนนี้โลกของเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 14.9°C ซึ่งทำลายสถิติของปี 2016 ที่เคยถูกบันทึกไว้ว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุด และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ท่ามกลางยุคของความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี นี่ก็ยังถือได้ว่าเป็นช่วงทศวรรษที่สภาพอากาศเลวร้ายที่สุดเลยก็ว่าได้  

ที่ผ่านมาหลาย ๆ องค์กรพยายามที่จะลดปัญหานี้ ด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างการผลิตอาหารจากพืช หรือ Plant-based meats, รถยนต์ไฟฟ้า, โซล่าเซลล์, พลังงานสะอาด แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ดูจะเป็นแนวทางใหม่ ในการบรรเทาปัญหาของภาวะโลกร้อนนี้ นั่นคือ “การทดลองปิดกั้นแสงอาทิตย์”

Harvard Project to Address Uncertainties in Solar Geoengineering 

การทดลองปิดกั้นแสงอาทิตย์ คือโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า The Stratospheric Controlled Perturbation Experiment (SCoPEx) เป็นการทดลองของทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Harvard University และโครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนพัฒนาโครงการจากเงินส่วนตัวของ Bill Gates อีกด้วย

โครงการนี้เป็นหนึ่งในเทคนิค Geoengineering หรือ การแทรกแซงระบบธรรมชาติของโลกขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนเปลี่ยนของสภาพอากาศนั่นเอง

เป้าหมายของโครงการ SCoPEx นี้ คืออะไร ?

SCoPEx เป็นโครงการที่แตกต่างจากโครงการอื่น ๆ ทั่วไป เพราะส่วนใหญ่การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนจะมุ่งเน้นไปที่การลดการสร้างมลพิษ แต่โครงการ SCoPEx นี้ได้มองข้ามจุดนั้นไป และมีแนวทางใหม่จากการเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามายังโลกแทน ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้ คือ เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก

โครงการ SCoPEx ปิดกั้นแสงอาทิตย์ได้อย่างไร? 

วิธีการปิดกั้นแสงอาทิตย์นี้ คือการส่งบอลลูนที่บรรจุด้วยสารเคมีอย่างซัลเฟต (Sulphate) และแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) จำนวนหลายตันขึ้นไปบนท้องฟ้า และเมื่อถึงจุดที่สูงพอสารเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาให้ลอยค้างอยู่บนท้องฟ้า เข้าสู่ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์หรือชั้นบรรยาศที่อยู่ในระดับการบินของเครื่องบิน ทำหน้าที่เป็นเหมือนแผงกรองแสงอาทิตย์

Plans to ‘hack Earth’s weather’ could start World War 3, panicked scientists warn

การที่สารเหล่านี้คอยสะท้อนความร้อนและรังสีจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาให้สะท้อนกลับขึ้นไปในอวกาศ ทำให้แสงที่จะส่องเข้ามาถึงชั้นบรรยากาศด้านล่างลดลง ส่งผลให้อุณหภูมิความร้อนในโลกก็ลดลงตามไปด้วย

แรงบัลดาลใจของแนวคิดจากโครงการ SCoPEx 

ที่มาของแนวคิดการปิดกั้นแสงอาทิตย์นี้ มาจากการเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในโลกในภายหลัง

ในปี 1991 ได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศฟิลิปปินส์ นั่นคือการปะทุของภูเขาไฟปินาตูโบ บนเกาลูซอน ซึ่งการะเบิดของภูเขาไฟครั้งนี้ ทำให้พวกเถ้าถ่านซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมาก (200 ล้านตัน) พุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและกลายเป็นละอองค้างฟ้าอยู่ 1 ปี

The Mount Pinatubo Eruption in the Philippines

และละอองของเถ้าถ่านซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมากนี้ กลายเป็นเหมือนแผงละอองที่คอยสะท้อนแสงอาทิตย์ทีส่องลงมาบนโลก ทำให้ในปีนั้นอุณหภูมิทั่วโลกลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5 องศา หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ใช้เป็นกรณีศึกษากันแบบจริงจัง จนกลายมาเป็นโครงการ SCoPEx ให้เราได้เห็นกัน

แต่โครงการนี้ก็ยังปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง 

เพราะถ้าหากโครงการ SCoPEx นี้ทำได้สำเร็จจริง ทางนักวิทยาศาตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้กังวลถึงผลกระทบที่อาจตามมาด้วย เนื่องจากวิธีการที่ใช้ในการทดลองนั้นเหมือนเป็นการไปแฮ็กการทำงานของธรรมชาติ เพราะดวงอาทิตย์ที่ควรส่องเข้ามายังโลกอย่างปกติ กลับถูกมนุษย์เราไปปิดกั้นเอาไว้  

ทำให้พวกเขาได้คาดการณ์ถึงผลที่ตามหลายอย่าง เช่น อาจทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน, การเติบโตของพืชเปลี่ยนไป, เดือดร้อนถึงการดำรงชีวิตของสัตว์ หรือในกรณีเลวร้ายที่สุด หากมีการใช้อนุภาคพวกนั้นเป็นจำนวนมา นานไปก็อาจทำลายชั้นโอโซนของโลกได้ 

ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็เคยออกมายืนยันว่า อนุภาคที่พวกเขาใช้เป็นสารเคมีที่ไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมส่วนทางทีมนักวิทยาศาสตร์เองก็พยายามที่จะทดลองใช้สิ่งอื่นนอกเหนือจากอนุภาคพวกนี้อยู่เช่นกัน และคงจะเป็นการพัฒนาการทดลองอื่น ๆ เพื่อหาวิธีที่ดีสุดและสร้างผลกระทบน้อยที่สุด

สุดท้ายแล้ว ถ้าหากโครงการ SCoPEx ทำสำเร็จและช่วยลดอุณภูมิโลกได้จริง ก็คงจะเป็นเรื่องดีสำหรับโลกของเราไม่น้อย แต่ก็ยังมีมุมที่น่ากังวลในเรื่องของผลกระทบที่จะตามมา อย่างที่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญได้ถกเถียงกันอยู่ เพราะอย่างที่บอกไปว่า การทำแบบนี้ถือว่าเป็นการไปรบกวนธรรมชาติเป็นอย่างมากด้วยเหมือนกัน 

และถึงแม้ว่าตอนนี้หลายองค์กรจะหันมาพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นแล้วก็จริง แต่ปัญหาภาวะโลกร้อนก็ยังคงส่งผลร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่แพ้กัน ยังไงก็อย่าลืมช่วยกันดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมกันด้วยนะคะ มาช่วยกันแก้ปัญหาก่อนที่มันจะสายไป เพราะโลกหมุนไวกว่าที่เราคิดกันเยอะเลยค่ะ

แสดงความเห็น