CBDC สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ เทรนด์การเงินโลกที่น่าจับตา

โลกการเงินที่กำลังจะเปลี่ยนไปในรอบ 100 ปี เมื่อเงินกระดาษกำลังจะถูกแทนที่ด้วย “โค้ด” การมาของ Libra, ดิจิทัลหยวน ส่งผลให้ทั่วโลกเริ่มตื่นตัว แล้วเรื่องนี้จะมาเปลี่ยนชีวิตเรายังไง? คุณอัครเดช เดี่ยวพานิช ประธานบริษัท Cryptomind & Markle Capital และผู้ก่อตั้งเพจ Coinman มาชวนเราคุยเรื่องอนาคตของโลกการเงิน เข้าใจได้ใน 8 นาทีที่คลิปด้านบนที่เราแนบไว้ หรือจะอ่านบทความด้านล่างก็ได้ค่า

รู้จักกับเงิน 3 ประเภท

1. เงินของประชาชน 

เงินของประชาชนเป็นสิ่งที่ประชาชนเลือก ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือ “ทอง” ที่ประชาชนเลือกมากว่า 4,000 ปี เพราะสามารถแลกเปลี่น เคลื่อนย้ายได้ง่าย ทนทานต่อกาลเวลา มีความเป็นกลาง เป็นแร่ธรรมชาติ หายากและมีจำนวนจำกัด และไม่มีใครสร้างทองคำขึ้นมาเองได้ 

มาจนถึงยุคดิจิทัล ก็ได้มีการพยายามสร้างเงินที่เหมือนทองขึ้นมา คือ Bitcoin โดยมีคุณสมบัติคล้ายกันคือ เป็นเงินที่เปิดกว้างและเท่าเทียมกับทุกฝ่าย ไม่มีการเซ็นเซอร์และควบคุมโดยรัฐหรือองค์กรใด ๆ มีจำนวนจำกัด ถึงไม่ได้เกิดจากธรรมธาติแต่ก็เป็นโค้ดที่ทุกคนตรวจสอบได้ 

2. เงินขององค์กร 

เดิมองค์กรเอกชนเห็นปัญหาในการขนส่งทอง ว่าไม่สะสวก จึงมีการออกตั๋วทองหรือธนบัตรให้เรานำไปใช้จ่ายหรือมาแลกคืนได้ เป็นจุดกำเนิดของโมเดลธนาคาร

จนมาถึงปัจจุบันที่องค์กรก็เห็นปัญหาว่าเงินกระดาษเคลื่อนย้ายไม่สะดวก จึงได้มีการสร้างการทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น Mobile Banking, E-Wallet ฯลฯ โดยเงินที่เราใช้โอน-จ่ายกันนี้ ไม่ใช่เงินสดแต่เป็น Point ขององค์กร ที่เราแลกเปลี่ยนได้

เมื่อ Bitcoin เป็นเงินของประชาชนเกิดขึ้น องค์กรจึงนำแนวคิด Digital Currency ไปใช้ สร้าง Stablecoin (เงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ เก็งกำไรไม่ได้) ขึ้นมาบ้าง อย่าง Libra  ของ Facebook ที่เหนือกว่าเงินองค์กรอื่น ๆ ก็คือไม่ว่าเราจะอยู่มุมไหนของโลก แค่มีมือถือกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงสกุลเงินนี้ได้ (แต่รัฐบาลทั่วโลกก็ยังไม่ยอมรับเรื่องนี้)

3. เงินของรัฐบาล 

คือเงินกระดาษ เงินสดที่เราใช้กัน แต่เมื่อทั้งเงินของประชาชนและองค์กรต่างก็มีเงินดิจิทัลแล้ว รัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะเงินเหล่านั้นรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินได้เลย อีกทั้งเงินกระดาษไม่เหมาะกับยุคดิจิทัลแล้ว ตอนนี้สังคมเริ่มเข้าสู่ Cashless Society อย่างเต็มตัว ปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนเงินกระดาษมาเป็น Digital Currency โดยเราเรียกเงินของรัฐนี้ว่า CBDC หรือ Central Bank Digital Currency

CBDC คืออะไร?

CBDC หรือ Central Bank Digital Currency สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ อย่างที่บอกว่าเงินกระดาษไม่เหมาะกับโลกยุคดิจิทัลแล้ว ด้วยความไร้ประสิทธิภาพ ทั้งเส้นทางการเงินที่รัฐบาลไม่สามารถตรวจสอบได้, ต้องอาศัยตัวกลางในการกระจายเงินกระดาษ ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมโดยไม่จำเป็น, เงินกระดาษมีต้นทุน ทั้งการผลิตและการขนย้าย, การหมุนของเงินช้ากว่าออนไลน์ (ทางออนไลน์จิ้มจึ้กเดียว ก็ทำธุรกรรมเสร็จ)

Digital Currency คือภาพสะท้อนให้รัฐบาลเห็นถึงศักยภาพของเงินดิจิทัลเหล่านี้ ที่เราเป็นเจ้าของได้บนโลกดิจิทัล มีความคล่องตัวกว่าเงินกระดาษ และไร้พรมแดน จึงเกิด  CBDC ขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของ Digital Currency และเทคโนโลยีกระจายศูนย์ฐานข้อมูล อย่างเช่น Blockchain 

CBDC แบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. Wholesale ใช้กับเฉพาะสถาบันการเงิน และชำระเงินระหว่างองค์กร 
  2. Retail คือภาคประชาชน เราสามารถใช้ เก็บ จ่าย เงินได้เหมือนกับใช้เงินสดเพียงแค่เปลี่ยนเป็นรูปแบบดิจิทัล

ดิจิทัลหยวนจะมาเป็นสกุลเงินกลางโลก แทนที่เงินดอลลาร์?

“ดิจิทัลหยวน”  สกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ จีนก็มีความตั้งใจที่จะทำให้เป็น CBDC แบบ Retail ซึ่งจีนเองก็เป็นประเทศที่ได้เปรียบในแง่ของการกระจายเงิน ด้วยความเป็นผู้บริโภครายใหญ่ เดินทางไปที่ไหนของโลก ประเทศคู่ค้าก็ต้องปรับตัวรับกับพฤติกรรมการใช้เงิน 

แต่ในแง่ของการมาแทนที่สกุลเงินกลางของโลกอย่าง US Dollar ก็ถือว่ายากมาก เพราะกว่าจะไปถึงจุดนั้น จีนต้องสร้างความน่าเชื่อถือและมีความโปร่งใส ทั้งยังต่อฝ่าฟันเรื่องการเมืองระดับโลก และอเมริกาไม่ยอมง่าย ๆ แน่ เรียกว่าการมาของ “ดิจิทัลหยวน” ถือเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้อเมริกาได้เริ่มเกม

อเมริกาทำ CBDC แน่ แต่ต้องใช้เวลา

เทคโนโลยีก็พร้อม แต่อเมริกายังติดปัญหาด้านโครงสร้าง ย้อนกลับไปกว่าที่อมเริกาจะผลักดัน US Dollar ให้กลายเป็นสกุลเงินกลางของโลกได้ จำเป็นที่จะมีโครงสร้างและเครื่อขายที่รองรับการใช้เงินนี้ทั่วโลก นั่นคือบริษัทตัวกลางจำนวนมหาศาล หากอเมริกาปล่อย CBDC ออกมาตอนนี้เลย ก็จะกระทบกับธุรกิจทางการเงินที่มีอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจที่ใช้ระบบเดิม, สถาบันทางการเงิน, บริษัทตัวกลางที่ไม่จำเป็นแล้ว (ปิดกระทันหัน คนตกงาน) เครือข่ายขนาดยักษ์เหมือนโซ่ตรวนขนาดใหญ่ หากไม่คิดอย่างถี่ถ้วนอาจจะส่งผลเสียได้ การรีบออก CBDC ก็ดูจะได้ไม่คุ้มเสีย แต่สักวันหนึ่งอเมริกาจะออก CBDC มาแน่นอน เพราะหากไม่ทำ ก็ตามคนอื่นไม่ทัน

แล้วประเทศไทยจะมี CBDC ไหม

ประเทศไทยเราเองก็เริ่มแล้ว ในโปรเจคชื่อว่า “อินทนนท์” ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยร่วมกับสถาบันทางการเงิน และบริษัทผู้พัฒนา ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและทดสอบระบบกับทางต่างประเทศเรียบร้อย โดยเริ่มแรกน่าจะใช้เป็น CBDC ในรูปแบบ Wholesales เรื่องนี้เราก็ต้องติดตามกันต่อไป 

6 ข้อดีของ CBDC 

  1. ลดต้นทุนและลดการจัดการเงิน การผลิตเงินกระดาษมีต้นทุนตั้งแต่การผลิต การขนส่งเคลื่อนย้ายเงิน แม้แต่ผู้ใช้เองก็มีต้นทุนในการแลกเปลี่ยนเงิน แต่ถ้าเป็น CBDC ก็จะตัดต้นทุนเหล่านี้ออกไป คนใช้ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียม
  2. เพิ่มอำนาจรัฐ รัฐสามารถสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของเงินได้ตลอดเวลา เห็นเส้นทางความเป็นไปของเงินทั้งหมด (ลดเรื่องการฟอกเงิน หนี้นอกระบบ)
  3. รัฐบาลสามารช่วยเหลือได้ตรงจุด หากรัฐบาลเห็นเส้นทางการเงินของทุกคน อย่างวิกฤต Covid-19 ถ้ารู้ว่าใครมีรายได้เท่าไร ใช้จ่ายเท่าไร รัฐบาลก็จะสามารถเยียวยาได้ถูกคน โดยที่เราไม่ต้องกรอกแบบฟอร์ม
  4. เงินเปลี่ยนมือเร็วขึ้น การใช้จ่ายมากขึ้น กู้ยืมเร็วและมากขึ้น และยิ่งเงินไปเร็วเท่าไร GDP ของประเทศก็จะโตขึ้นเท่านั้น 
  5. ประโยชน์เชิงนโยบาย เป็นไปได้หลายประเด็น เช่น นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ทำให้คนดึงเงินออกเป็นเงินสด แต่ด้วย CBDC ที่เป็นแบบ Retail รัฐสามารถหักเงินจากกระเป๋าดิจิทัลของเราได้
  6. เก็บทรัพย์สินได้หลากหลาย เทคโนโลยีนี้จะไม่หยุดเพียงแค่สกุลเงิน แต่อาจไปถึงสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ที่จากเดิมเราต้องซื้อเป็นเล่ม ๆ แต่อนาคตอาจจะเปลี่ยนเข้ามาอยู่ในโปรแกรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับทั้งผู้ซื้อและรัฐบาล

อนาคตของ Digital Currency?

ในอนาคตที่เราใช้ “โค้ด” แทนเงินกระดาษ เราเอาเงินบาทแปลงเป็นเหรียญดิจิทัลได้ ยุคนั้นสินทรัพย์ทุกอย่างบนโลกก็เปลี่ยนเป็นเหรียญดิจิทัลได้ ทั้ง ทองคำ ที่ดิน หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เมื่อเป็นรูปแบบเหรียญดิจิทัลแล้ว การแลกเปลี่ยนมีสภาพคล่องมากพอ นำไปสู่การซื้อขายที่ง่ายขึ้น 

เราสามารถนำเหรียญดิจิทัลที่ค้ำด้วยสินทรัพย์เหล่านี้มาใช้จ่ายได้ สมมติว่าเราจะซื้อข้าวสักจาน เราก็เลือกว่าจ่ายด้วยทองคำก็ได้ โดยที่ผู้รับไม่ต้องสนใจว่าเราจ่ายด้วยอะไร เพราะทองจะถูกแปลงให้เป็นสกุลเงินที่เขาต้องการ

ตอนนี้หลาย ๆ ประเทศของโลกรวมถึงประเทศไทยของเราเองก็กำลังพัฒนา สร้าง CBDC ขึ้นมาในอัตราเร่ง ไม่แน่ว่าสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติอาจจะมาให้เราใช้ในอีกไม่ช้า ในฐานะผู้ใช้ หรือเจ้าของกิจการ จำเป็นที่จะต้องเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ได้ และปรับตัวให้ทัน เพราะอนาคตใกล้กว่าที่เราคิด เรามาติดตามเรื่องนี้กันต่อไปค่ะ

แสดงความเห็น