เจาะข่าวลือ “COVID-19” อาจไม่ได้มาจากค้างคาว แต่เป็นฝีมือมนุษย์!?

นักวิทยาศาสตร์จีนเผยต้นกำเนิดไวรัสชนิดนี้อาจมาจากการทดลองของรัฐบาล!

เป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์อีกครั้งเกี่ยวกับที่มาของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ว่าจริง ๆ มาจากที่ไหนกันแน่?หรือต้นกำเนิดอาจมาจากการหลุดรอดของเชื้อไวรัสในห้องทดลองปฏิบัติการของสถาบันไวรัสวิทยาในเมืองอู่ฮั่น?
แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนยังยืนยันว่าเชื้อตัวนี้ มาจากสัตว์ป่า

แล้วความจริงคืออะไร วันนี้ LDA World จึงหยิบประเด็นนี้มาวิเคราะห์กันค่ะ

จุดเริ่มต้นของข้อสันนิษฐานและข่าวลือ
Credit : https://twitter.com

ไม่ว่าจะเป็นสังคมออนไลน์ สื่อบางสำนัก นักวิทยาศาสตร์บางประเทศ หรือแม้แต่นักการเมืองบางคนก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า หรือเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะมีแหล่งที่มามาจากสถาบันไวรัสวิทยาในเมืองอู่ฮั่น โดยข้อสันนิษฐานนี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อ Tom Cotton สมาชิกวุฒิสภา สหรัฐฯ จากพรรค Republican ได้แสดงความเห็นผ่านทางทวิตเตอร์และได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่าง ๆ ในเรื่องนี้ว่า ไวรัสโคโรนาชนิดนี้อาจมากจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการวิจัยอาวุธชีวภาพจากสถาบันไวรัสวิทยาในอู่ฮั่นที่มีความปลอดภัยต่ำ ทำให้ไวรัสหลุดรอดออกมา

Credit : https://www.businessinsider.com

หากดูจากแผนที่แล้วจะพบว่าสถาบันไวรัสวิทยาในเมืองอู่ฮั่นนั้นอยู่ห่างจากตลาดค้าส่งอาหารทะเลหัวหนาน ซึ่งเป็นตลาดที่ถูกกล้าวอ้างว่าเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสเพียงไม่กี่กิโลเมตร ภายในสถาบันมีห้องปฏิบัติการทางชีวภาพแห่งแรกของเอเชียและของประเทศจีน บริหารจัดการโดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ เก็บรวบรวมเชื้อก่อโรคที่มีความเสี่ยงสูงไว้มากมายเพื่อทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น HIV, Ebola, H1N1 รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนา นอกจาก Tom Cotton แล้ว ยังมีอีกหลายสื่อที่เผยแพร่แนวคิดเรื่องความเป็นไปได้ที่การแพร่ของเชื้อไวรัสอาจมาจากการทดลองของมนุษย์ ทั้งบทความใน the Washington Times, New York Post และข่าวใน Arirang TV

Credit : https://kotobukibune.at.webry.info/202001/article_27.html

ทั้งยังมีข่าวเรื่องการหายตัวไปของ Xu Zhangrun ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Tsinghua ในปักกิ่ง หลังจากที่ได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำงานของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา ซึ่งเขาได้กล่าวในโซเชียลมีเดียว่านี่อาจจะเป็นข้อความสุดท้ายในชีวิตของเขา

Credit : https://www.theguardian.com

นอกจากนั้นยังมีนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน Botao Xiao และ Lei Xiao จากมหาวิทยาลัย the South China University of Technology ได้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฮ่องกง Mingpao และหนังสือพิมพ์อังกฤษ  The Mirror ว่าสถาบันควบคุมโรคอู่ฮั่น (the Wuhan Center for Disease Control (WHCDC)) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากตลาดค้าส่งอาหารทะเลหัวหนาน อาจเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของไวรัสในมลฑลหูเป่ย ซึ่งสถาบันแห่งนี้ได้กักเก็บสัตว์ทดลองรวมถึงค้างคาวไว้กว่า 600 ตัว

ไม่ใช่แค่เพียงประเทศจีนเท่านั้นที่ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องการปล่อยเชื้อไวรัสชนิดนี้ ยังมีประชาชนอีกมากทั้งชาวจีนส่วนใหญ่ รวมถึงชาวอเมริกัน เชื่อว่า COVID-19 อาจเป็นอาวุธชีวภาพ ที่สหรัฐอเมริกาจงใจปล่อยในแผ่นดินจีน เพื่อโจมตีเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเฟื่องฟู ทว่าข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่มีหลักฐานและข้อสนับสนุนที่เพียงพอ

Credit : https://www.investo.vn
www.twitter.com
พิสูจน์หลักฐานหาต้นตอที่แท้จริง

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานและความเป็นไปได้ ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดยังคงเป็นทฤษฎีที่ว่า ต้นตอของไวรัสคือ ตลาดสด  ที่มีแผงค้าสัตว์หลากหลายชนิด ทั้งงู มาร์มอต สัตว์ปีก รวมถึงค้างคาว ทำให้เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคต่าง ๆ แต่ก็ยังมีงานวิจัยจากแพทย์ชาวจีนที่ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ระดับโลกอย่าง Lancet เมื่อปลายเดือนมกราที่ผ่านมาว่า กลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนากลุ่มแรกในเมืองอู่ฮั่น มีเพียง 27 (66%) จาก 41 คนเท่านั้นที่เคยไปตลาดสดอาหารทะเลหัวหนาน ส่วนอีก 14 คนที่เหลือนั้นไม่เคยไปตลาดสดหัวหนานมาก่อน จึงมีความเป็นไปได้ว่า ตลาดค้าส่งอาหารทะเลหัวหนานอาจไม่ใช่แหล่งกำเนิดของเชื้อไวรัสเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น

งานวิจัยดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ 27 คนจากหลากหลายประเทศทั่วโลก รวมตัวกันออกแถลงการณ์ร่วม เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการโหมกระพือข่าวลือ รวมถึงทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ ลงในวารสารการแพทย์ Lancet เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า ผลจากการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสชี้ให้เห็นว่า ไวรัสชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ป่าเหมือนกับไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ไวรัสที่มนุษย์ตัดต่อพันธุกรรมขึ้นเอง และไม่ได้เกิดจากการบริโภคค้างคาวโดยตรง แต่น่าจะติดต่อผ่านพาหะชนิดหนึ่งเป็นตัวกลาง ก่อนที่จะแพร่มาสู่มนุษย์

ซึ่งข้อสันนิษฐานทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ทฤษฎีความเป็นไปได้เท่านั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่แน่นอนและหลักฐานพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับที่มาของไวรัสอันตรายร้ายแรงชนิดนี้

อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งหาคำตอบ เพราะการรู้แหล่งที่มาของโรคนั้นสำคัญมากในการป้องกันโรคอุบัติใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

ที่มาของชื่อ COVID-19

ส่วนความเห็นของโลกออนไลน์ที่เชื่อว่า ชื่อโรคอย่างเป็นทางการที่เกิดจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่ตั้งว่า COVID-19 น่าจะเกี่ยวข้องกับการทดลองวิจัยนั้นไม่เป็นความจริง

เอกสารแนวทางการตั้งชื่อโรคของ WHO ระบุหลักการตั้งชื่อโรคชนิดนี้ว่ามาจาก Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) โดยมีเกณฑ์การตั้งชื่อ ดังนี้

  • ต้องไม่เชื่อมโยงถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
  • สัตว์
  • บุคคลหรือกลุ่มคน
  • ออกเสียงได้ง่าย
  • เชื่อมโยงกับเชื้อโรค

เพื่อป้องกันไม่ให้เรียกชื่อผิด หรือ ได้รับผลกระทบจากการถูกตั้งเป็นชื่อของโรคจากไวรัสชนิดนี้ อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลุดมาจากห้องทดลองก็เป็นการกระตุ้นให้นักวิทยาศาตร์และรัฐบาลจีนพยายามเร่งหาข้อพิสูจน์เกี่ยวกับที่มาของเชื้อไวรัสมากขึ้น แต่ข่าวลือเหล่านี้ก็อาจทำให้คนสับสนและตื่นตระหนก ซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงก็เป็นได้

ดังนั้นเราจึงควรเชื่อคำประกาศจากกรมอนามัยโลกเป็นหลัก จนกว่าจะมีประกาศใหม่มาหักล้าง และหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือหรือยังไม่ได้รับการยืนยัน

คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

สื่งที่พวกเราพอจะทำได้ก็คงเป็นการป้องกันตัวเองอย่างถูกต้องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรค COVID-19 ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดทั่วโลกและยังไม่มีท่าทีจะหยุดในเร็ววัน

กรมอนามัยโลก WHO ได้อธิบายเรื่องการแพร่กระจายของไวรัสชนิดนี้ว่าสามารถแพร่กระจายผ่านสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ หากมีผู้ติดเชื้อไอจามหรือหายใจบริเวณนั้น ทำให้ของเหลวหรือสารคัดหลั่ง ตกลงไปสู่สิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ โทรศัพท์ ลูกบิดประตูเป็นต้น หากเราใช้มือสัมผัสแล้วมาแตะบริเวณหน้า หรือหยิบอาหารเข้าปาก ก็สามารถติดเชื้อได้เช่นเดียวกับการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยโดยตรง และอย่างที่ทราบกันดีหากเราอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อในระยะ 1 เมตร เราสามารถรับเชื้อผ่านทางสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อจากการหายใจ ไอ จามที่ลอยอยู่ในอากาศได้

พูดง่าย ๆ คือ เชื้อไวรัสชนิดนี้มีการแพร่กระจายเหมือนไข้หวัด 

WHO จึงแนะนำวิธีป้องกันเชื้อโรคสำหรับคนที่ยังต้องทำงานออฟฟิศและผู้ประกอบการไว้ ดังนี้

  1. ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
    ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวต่าง ๆ บนโต๊ะ รวมถึงสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องสัมผัสเป็นประจำอย่าง โทรศัพท์ หรือคีย์บอร์ด ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ
  2. เตรียมเจลล้างมือให้พร้อม
    นำเจลล้างมือที่ได้มาตรฐานมีส่วนประกอลของแอลกอฮอล์ 70% ไปวางบริเวณที่เข้าถึงง่าย เห็นชัด เพื่อให้พนักงาน ผู้มาติดต่อ และลูกค้า ได้ใช้อย่างทั่วถึง และหมั่นเติมอย่างสม่ำเสมอ เช่น บริเวณทางเข้า บริเวณโต๊ะส่วนกลาง บริเวณห้องประชุม เป็นต้น รวมถึงให้ความรู้ต่อบุคคลากรในที่ทำงานโดยเฉพาะแม่บ้านและฝ่ายรักษาความปลอดภัยที่ต้องเข้าถึงหลายพื้นที่ในออฟฟิศ เรื่องการล้างมืออย่างถูกต้อง รวมถึงควรเตรียมพื้นที่สำหรับล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้เข้าถึงง่าย เพราะการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธีสามารถฆ่าไวรัสได้เช่นกัน
  3. เตรียมหน้ากากอนามัยให้พร้อม
    ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน และสำหรับผู้ประกอบการอาจเตรียมเผื่อไว้สำหรับลูกจ้าง ในกรณีลูกจ้างบางส่วนไม่สามารถหาซื้อเองได้เนื่องจากราคาขึ้นสูง รวมถึงเตรียมถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดสำหรับใช้ทิ้งหน้ากากอนามัยและกระดาษทิชชู่
  4. ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)
    หากรู้สึกว่ามีไข้ มีอาการไอจาม แม้เพียงเล็กน้อย ที่ต้องทานยากลุ่ม  paracetamol/acetaminophen, ibuprofen or aspirin จำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้านเพื่อดูอาการและรักษาตัว และผู้ประกอบการควรให้ลูกจ้างสามารถลาป่วยในกรณีดังกล่าว
  5. หลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวหรือติดต่องานในพื้นที่สุ่มเสี่ยง

    ควรศึกษาและหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศสุ่มเสี่ยงและมีอัตราการแพร่ระบาดสูง โดยสามารถติดตามข้อมูลรายงานสถานการณ์ประจำวันจากเว็บไซต์ของ WHO

    หากมีความจำเป็นต้องไปทำงานจริง ๆ หลังกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ควรกักตัวเพื่อดูอาการ 14 วัน และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายวันละ 2 ครั้ง ซึ่งการกักตัวหมายถึงการแยกตัวอยู่เพียงคนเดียว ไม่สัมผัสหรือใกล้ชิดผู้อื่น (รวมถึงสมาชิกในครอบครัว) ในระยะ 1 เมตร หากมีอาการไอจามหรือมีไข้ ควรติดต่อสาธารณสุขใกล้บ้านและแจ้งข้อมูลการเดินทาง

    Credit : https://www.who.int
  6. เตรียมพร้อมรับมือสำหรับการแพร่ระบาด
    สำหรับผู้ประกอบการรวมถึงพนักงานควรเตรียมแผนธุรกิจให้พร้อมสำหรับกรณีเกิดการแพร่ระบาดในประเทศ และอาจไม่สามารถมาทำงานที่ออฟฟิศได้ตามปกติ ควรวางแผนการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)ไว้ให้พร้อม เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้แม้ต้องกักตัว

แม้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อ COVID-19 จะสามารถหายเองได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่มีอาการหนัก มีโรคแทรกซ้อน และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างใกล้ชิด ความเสี่ยงของอาการแปรผันตามอายุและความแข็งแรง โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มก้นต่ำ เช่น มีโรคประจำตัว เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนักและอาจนำไปสู่การเสียชีวิต

ดังนั้นเราจึงควรป้องกันโรคนี้อย่างถูกต้อง เพื่อสุขภาพของตัวเองและสุขภาพของคนที่เรารัก โดยเฉพาะพ่อแม่ เด็ก และญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

แสดงความเห็น