บุก Amazon Go ร้านค้าอัจฉริยะ

เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้สะดวกสบาย และง่ายต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น อย่างที่เห็นได้ชัด และเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ ก็คงจะเป็นเรื่องของ “ร้านค้าไร้คนขาย” หรือ “ร้านค้าอัจฉริยะ” ที่ได้เปิดให้บริการมากขึ้นแล้ว ในต่างประเทศ อย่างจีน และอเมริกา

ครั้งนี้เฟื่องได้มีโอกาสมาดูงาน CES งานรวมเทรนด์เทคโนโลยีล้ำๆ ของปี 2019 ที่จัดยิ่งใหญ่ ณ ลาสเวกัส เฟื่องเลยถือโอกาสนี้แวะมาใช้งานร้านสะดวกซื้อ Amazon Go สาขาแรกที่เปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไปเมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา โดยตั้งอยู่ที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศอเมริกา

คอนเซปต์ของร้านค้าอัจฉริยะนี้ก็คือ “Just Walk Out Shopping” และ “No Lines, No Waiting” หรือพูดง่ายๆ ว่า “หยิบสินค้าที่ต้องการ แล้วเดินออกจากร้านไปได้เลย”

ไม่ต้องต่อคิวจ่ายเงิน เพียงแค่มี QR Code แสดงบัญชีของผู้ใช้งานสำหรับสแกนก่อนเข้าร้านค้าเพียงครั้งเดียว ก็ช้อปปิ้งได้สบาย

ง่ายขนาดนั้น Amazon Go ทำได้ไง ?

ด้วยอาศัยการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ….

  • ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลจากภาพ (Computer Vision)
  • อัลกอริทึมการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning Algorithms)
  • เซนเซอร์ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ (Sensor Fusion)
  • เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)

เมื่อเราหยิบของออกจากชั้นวาง ระบบก็จะตรวจสอบด้วย Sensor และ Image Processing ว่าเราหยิบสินค้าอะไรไป และหยิบไปกี่ชิ้น จากนั้นระบบจะเพิ่มรายการสินค้าสู่ตะกร้าช้อปปิ้งเสมือน ในบัญชี Amazon ของเราโดยอัตโนมัติ

แต่ถ้าหยิบสินค้าออกมาดูแล้ว รู้สึกไม่ชอบ หรือเปลี่ยนใจไม่อยากได้ จะต้องเอาของชิ้นนั้นไปวางคืนที่เดิม เพื่อให้ระบบตัดสินค้านั้นออกไปจากรายการช้อปปิ้งของเรา … จากนั้นจะหยิบเข้า-หยิบออกเท่าไรก็ได้

สินค้าที่ขายในร้านส่วนมากจะเป็นของทั่วไป เช่น อาหารพร้อมทาน (สลัด แซนด์วิช ซูชิ ฯลฯ) เครื่องดื่ม และพวกเครื่องปรุงรสต่างๆ นอกจากนั้นยังมีของ limited edition จาก Amazon วางขายด้วยเช่นกัน

แม้ Amazon จะไม่ต้องเสียต้นทุนในการจ้างพนักงานแคชเชียร์ก็จริง แต่ภายในร้านก็ยังคงมีพนักงานที่คอยให้ข้อมูล และความช่วยเหลือลูกค้า จัดเตรียมอาหารสด และจัดเรียงสินค้าบนชั้นวางอาหารอยู่ตลอด นอกจากนั้นยังมีพนักงานตรวจบัตรประชาชนในโซนแอลกอฮอล์อีกด้วย

ส่วนเรื่องคิดคำนวณราคาสินค้า ‘ขาด/เกิน’ หรือ ‘ผิด/ถูก’ ก็ไม่น่าห่วง เพราะระบบ Machine-Learning ของที่นี่มีความแม่นยำ และสามารถระบุได้ว่ามีสินค้าอะไรที่ถูกหยิบออกจากชั้นวางของ และบันทึกข้อมูลสินค้าที่ถูกหยิบลงในตะกร้าออนไลน์ ถ้าหากลูกค้าเกิดเปลี่ยนใจและวางสินค้าคืนไว้ที่เดิม ระบบก็จะอัปเดตข้อมูลใหม่ให้อัตโนมัติ

ส่วนปัญหาคนขโมยของในร้าน ก็หายห่วงไปได้เลย … เพราะลูกค้าที่เข้ามาซื้อของใน Amazon Go ได้ แปลว่าจะต้องมีแอปพลิเคชัน และบัญชีของ Amazon ก่อนเท่านั้น ซึ่งข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคน ระบบสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดาย

โดยสรุปแล้ว … ร้านค้าอัจฉริยะ Amazon Go ถือเป็นอีกหนึ่งร้านค้าที่นำเทคโนโลยีต่างๆ มาทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานการตลาดแบบ Online และ Offline ไว้ในที่เดียวกันอย่างลงตัว

หากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวเมือง Seattle ก็อย่าลืมแวะไปลองใช้งานกันด้วยตัวเองดูนะคะ

แสดงความเห็น