เรียนรู้วิธีเริ่มธุรกิจกับ Speaker ระดับโลก

“อยากออกมาทำธุรกิจของตัวเองจัง” ประโยคที่ได้ยินมานานมากๆ ซึ่งเฟื่องเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นค่ะ5555 แต่ตอนนี้ได้เริ่มทำธุรกิจของตัวเองแล้ว และได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ มีปัญหาให้เราได้เรียนรู้ แก้ไขตลอดเวลา จึงคิดว่าเพื่อนๆ ที่เริ่มออกมาทำธุรกิจ หรือใครที่กำลังเริ่มสร้างธุรกิจคงปวดหัวไม่น้อย วันนี้เฟื่องเลยตั้งใจมาแชร์ประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมคลาสเรียนจากการเชิญ ของ dtac accelerate ที่จัดให้สตาร์ตอัปใน Batch ที่ 6 ในหัวข้อ “Stages of Growth (OKR by Hai Habot) ซึ่งได้เชิญ Hai Habot มาเป็น Speaker โดย Hai เองก็ไม่ธรรมดาค่ะ เพราะเขาได้รับสมยานามจากคนในแวดวงธุรกิจยกให้เป็น “ปรมาจารย์ทางด้าน OKR” มาแนะนำเหล่าสตาร์ตอัปในโครงการถึงวิธีการสร้างธุรกิจให้มั่นคง รวมถึงการตั้งและความสำคัญของ OKR โดย Hai เปิดฉากมาในห้องเรียน พร้อมกับ 3 คำถามที่สะกดทุกชีวิตในห้อง

3 คำถาม ต้องตอบให้ได้ก่อนเริ่มธุรกิจ

  1. ลูกค้าของเราคือใคร
  2. ปัญหาของเขาคืออะไร และเราแก้ได้จริงไหม
  3. อะไรเป็นมูลค่า และการแก้ปัญหาของคุณสร้างมูลค่าได้จริงไหม

Hai Habot ถาม 3 คำถามกับเหล่าสตาร์ตอัปและเฟื่องในห้องเรียน ภาพแรกโอเคค่ะ สำหรับข้อ 1 เราควรจะรู้ว่าเราขายสินค้าให้ใคร แต่เฮ้ย! อะไรคือปัญหา และอะไรคือการแก้ปัญหา ยังไม่ได้เริ่มเลย จะให้มาแก้ปัญหาอะไร ยิ่งพูดเรื่องมูลค่าและการแก้ปัญหานี่ยิ่งงงไปใหญ่เลย เพราะความจริงเราควรจะคิดแค่ว่า เราขายอะไร ขายให้ใคร และขายยังไงหรือเปล่า? แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ Hai ถามเรานั้นแหละค่ะ คือ Key ลับสู่ความสำเร็จ!! ปัญหาที่ Hai พูดถึงนั้นไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของลูกค้าเรา

เนื่องจากการสร้างธุรกิจให้เป็น Start-up ต้องเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตมากกว่า 1000% ในปีแรกเท่านั้น และหากเราไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับคนจำนวนมากได้ ธุรกิจของเราไม่มีทางเติบโตได้มากมายขนาดนั้นแน่ๆ และสำคัญกว่านั้นคือ ธุรกิจเราต้องแก้ปัญหาเหล่านั้นได้จริงๆ เมื่อแก้ได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละค่ะที่ธุรกิจของเราจะเกิดมูลค่า ซึ่งมูลค่าในที่นี้ก็มีด้วยกัน 2 แบบคือ จับต้องได้, คุณค่าทางอารมณ์

คำแนะนำของ Hai Habot

เมื่อเราเริ่มสร้างธุรกิจแล้ว คำแนะนำแรกที่ Hai Habot บอกกับทีมสตาร์ตอัปและเฟื่องคือ อย่ารับคำแนะนำทั้งปวง เพราะ

  1. ทุกอย่างขึ้นอยู่กับบริบท
  2. ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวซะที่ไหนกันเล่าา!?
  3. ไม่ต้องฟังความเห็นทุกอย่างจากทุกคน

เหตุผลทั้ง 3 ข้อที่ Hai Habot กล่าวมาและเฟื่องสัมผัสได้คือ อย่ารับคำแนะนำเพราะไม่มีอะไรถูกต้อง 100% แต่ให้ฟังคำแนะนำก่อนและนำมาตัดสินใจเอง โดยให้ยึดนิยามความสำเร็จของเราเป็นพื้นฐานประกอบการตัดสินใจ เช่น เงิน, สร้างบริษัทให้เติบโต, ได้ลงสื่อ หรือสร้างมูลค่าให้บริษัทก่อนขายทิ้ง ถ้าเรารู้แล้วว่าความสำเร็จของเราคืออะไรก็ Let’s go ค่ะ  แต่ถ้าไม่รู้สิ่งที่ต้องเริ่มคือ กำหนดความสำเร็จของเราก่อนค่ะ โดยเริ่มจากการถามตัวเอง

ถามตัวเองอีกครั้ง

  1. รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน?
  2. รู้ว่าเรากำลังจะไปไหน?
  3. อะไรจะทำให้เราไปถึงจุดนั้น?
  4. ตอบให้ได้ว่า “ทำไมถึงสำคัญ”  (สิ่งนี้มีความหมายอย่างไรกับเรา?)  ตัวอย่างเช่น ตัวเลขนั้นๆ ที่เราอยากได้ ทำไมถึงต้องเป็นเลขนี้ เช่น จำนวน ลูกค้า/รายได้ และต้องได้เท่านี้เพราะอะไร? เพราะจะมีเงินไปจ้างวิศวกร ระดับท็อป 3 ของประเทศและบริษัทจะไปต่อไม่ได้
  5. เราจะรู้ได้อย่างไร ติดตามผล และวัดผลอย่างไร

เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่งค่ะ

สำคัญที่สุดสำหรับการเริ่มต้น Hai Habot แนะนำว่า เป็นช่วงที่ผู้ก่อตั้งทั้งหลาย (Start-up) จำเป็น ต้องทำหลายหน้าที่อยู่ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นคว้าควานหาโปรดักซ์ตัวอย่าง เพราะสมัยนี้นักลงทุนให้ความสำคัญกับตัว Founder มากกว่า Business Model ซะอีก และที่ขาดไม่ได้คือเราต้องมีกลุ่มลูกค้าตัวอย่าง (Customer Persona) ที่ละเอียดที่สุด ย้ำว่า!! ละเอียดที่สุด เราต้องเห็นภาพทั้ง เพศ? อายุ? อาชีพ? รายได้? งานอดิเรก? ชอบอ่านบล็อกอะไร? ตาม influencers คนไหน? และทุกอย่างที่มีอิทธิพลกับเขา ได้ข้อมูลอะไรบ้าง เอามาให้ครบค่ะ แล้ววิเคราะห์ออกมาให้รู้ว่าตัวอย่างลูกค้าเราเป็นแบบไหน ควรมีไกด์ในใจไว้ สัก 3 แบบ โดยตอนแรกไม่จำเป็นต้องเป๊ะมากก็ได้ แต่ต้องมีทางให้เรานำไปพัฒนาต่อเท่านั้นเอง

อีกเรื่องที่ Hai เน้นย้ำกับเราเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้หลายๆ ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นต้องจบลง นั่นคือ อย่า!!!!  “สร้างยอดขาย” มากกว่า “สร้างช่องทางการขาย” และจ้าง Sales ก็ต่อเมื่อเรามีผลิตภัณฑ์ที่นิ่งแล้วเท่านั้น จากนั้นถึงจะเป็นหน้าที่ของ Sales ที่จะพุ่งยอดขายให้เราค่ะ   

ปลาตัวเล็กกับปลาตัวใหญ่

เมื่อเราได้ลูกค้าตัวอย่างและผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนแล้ว จากนี้จึงถึงเวลาที่เราจะมาคิดถึงการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องสร้างรายได้ได้เลยทันที แต่ต้องมี Model ที่ชัดเจน และเห็นอนาคตที่สดใส ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญ และหลายต่อหลายคนมักจะพลาดกันในขั้นตอนนี้  นั่นคือ การปล่อยให้โฆษณาจำนวนมากเข้ามา โดยหารู้ไม่ว่าเงินจำนวนน้อยนิดที่เข้ามานั้นได้แลกมากับคนจำนวนมหาศาลที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง และการรับโฆษณาอย่างหนักหน่วงในช่วงเริ่มต้นจึงไม่ใช่วิธีการทำให้บริษัทสร้างรายได้ได้อย่างมั่นคง เหมือนในตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Social Network ในฉากที่ที่ Sean Parker บอกกับ Mark Zuckerberg ในช่วงสร้าง Facebook แรกๆ ว่า คุณจะเลือกอะไร? ระหว่าง “การจับปลาตัวเล็กหลายๆ ตัว” หรือ “การจับปลาตัวใหญ่หนึ่งตัว”

(Sean Parker และ Mark Zuckerberg ในภาพยนตร์เรื่อง The Social Network)

เมื่อธุรกิจของเราเติบโตขึ้นแล้ว

จึงเริ่มมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับกลาง จนกระทั่งเมื่อผลิตภัณฑ์นิ่งแล้ว ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่รากฐานเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วค่ะ สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือการยกระดับพาหนะเราให้ไฮโซขึ้น หรูหราขึ้น เวลานี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะใช้ระบบ OKR โดย Hai Habot ประกาศว่า “ช่วงนี้แหละ เป็นเวลาที่เราจะเอาไอเดียที่กำลังพุ่งพล่านของเหล่าผู้ก่อตั้งมาช่วยให้ไปถึงเป้าหมาย” ก่อนจะแนะนำการตั้ง OKR ให้พวกกับเหล่า Start up และเฟื่อง

การตั้ง OKR ที่ดี!

OKR หรือ Objective Key Result คือเป้าหมายให้เราวัดผลได้ง่ายขึ้น จะต้องยากสักเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความท้ายทายและกระตือรือร้น ซึ่งข้อดีคือจะทำให้เรามีระบบกระบวนการคิดที่ชัดเจน ทำให้ทีมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะเชื่อมั่นในเป้าหมาย โดยในคลาสเรียน Hai Habot ยกตัวอย่างให้พวกเราฟังว่า เป้าหมาย (Objective) เช่น ต้องการเป็นพ่อที่ดีขึ้น ตัวชี้วัด (Key Result) คือ ไปส่งลูกที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 2 วัน ซึ่งเป้าหมายอาจจะเป็นนามธรรม แต่ตัวชี้วัดต้องเป็นรูปธรรมและจับต้องได้เท่านั้นค่ะ!

ส่วนการตั้ง Objective ที่ดีต้องเป็นภาพกว้าง มีความท้าทาย วัดผลได้ง่าย มีกรอบเวลาที่ชัดเจน และที่ดีที่สุดควรมีสัก 2-3 อัน สูงสุดไม่เกิน 5 อัน ขณะที่ Key Result ควรจะวัดผลได้ง่าย ทำตามได้จริง โดยจะตั้งได้ 2 แบบเท่านั้นคือ 1. ไม่ถูก ก็ผิด  2. เป็นตัวเลข เช่น %  ค่าา

สรุปความประทับใจ!!

การ Workshop ในคลาสของ Hai บรรยากาศต้องบอกว่าเข้มข้นมากจริงๆ ค่ะ อยากให้ทุกคนเข้ามาฟังเลย สตาร์ตอัปในห้องตั้งใจมากรวมถึงเฟื่องด้วย เพราะทุกคนต่างรู้ว่าการได้เข้าคอร์สเรียนกับ Hai Habot แบบ Exclusive แบบนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก เฟื่องเองก็ได้ความรู้กลับมาแบบล้นทะลัก เพราะเฟื่องเองก็อยู่ในช่วงเริ่มสร้างบริษัทเช่นกัน การได้เข้าคลาสเรียนครั้งนี้ก็ได้เห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง และได้เห็นความสำคัญในเรื่องการตั้ง OKR  ขอขอบคุณทาง dtac accelerate ที่เชิญเฟื่องไปฟังด้วยนะคะ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับผู้ทำ Start-up และคนที่อยากเริ่มทำธุรกิจน้าา หากขาดตกบกพร่อง ตรงไหนก็ขออภัยด้วย ส่วนใครที่มีข้อมูลหรือความรู้อะไรก็สามารถนำมาแชร์กันได้น้าา

บทความแนะนำ

ประเมินสินค้าในระยะเริ่มต้นให้ประสบความสำเร็จ By Scott Bales

หลักการออกแบบ UX / UI by Jacob Greenshpan

แสดงความเห็น