ถอดบทเรียนวิกฤติ COVID-19 ที่อิตาลี ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากสุดในโลก!

ถอดบทเรียน วิกฤติโควิด จากอิตาลี
ทำไมอิตาลีถึงยับยั้งการแพร่ระบาดไม่ได้
และกลายเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก

หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อของไทยต่อวันเพิ่มสูงขึ้นถึง 80 กว่าราย ทำให้หลายคนกลัวว่า…

ไทยกำลังเดินรอยตามอิตาลีรึเปล่า?
สถานการณ์บ้านเราจะเป็นไปได้ขนาดนั้นไหม?
อะไรทำให้สถานการณ์ของอิตาลีเข้าขั้นวิกฤติแบบนี้? เราลองมาถอดบทเรียนกันค่ะ

19 มีนาคม สำนักข่าวต่างประเทศออกเบรคกิ้งนิวส์ในเวลาประมาณตี 1 ว่ายอดผู้เสียชีวิตจาก โควิด-19 ในอิตาลี พุ่งสูงกว่าประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศต้นทางของการแพร่ระบาดแล้ว โดยตอนนี้อิตาลีมีผู้เสียชีวิตรวม 7,503 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีผู้ป่วยสะสม 74,386 เคส มากเป็นอันดับ 2 ของโลก

ไล่ไทม์ไลน์การแพร่ระบาดในอิตาลี

จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในอิตาลีอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ก่อนที่จะกระจายไปทั่วประเทศ

31 มกราคม : อิตาลีพบผู้ป่วย 2 รายแรกของประเทศในกรุงโรม เป็นคู่รักชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น
รัฐบาลสั่งยกเลิกไฟลท์ที่มาจากจีนและจะเดินทางไปจีน รวมถึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงโรมทันที มีการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจรับมือกับโควิด-19
6 กุมภาพันธ์ : พบผู้ป่วยชาวอิตาลีรายแรกที่เดินทางกลับมาจากอู่ฮั่น
14 กุมภาพันธ์ : พบผู้ป่วยชาวอิตาลีในเมืองลอมบาร์ดี เมืองที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดใหญ่ของประเทศ
21 กุมภาพันธ์ : การแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง
22 กุมภาพันธ์ : อิตาลีมีผู้เสียชีวิต 2 รายแรก
8 มีนาคม : อิตาลีสั่งปิดเมืองลอมบาร์ดีและพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศรับมือ
10 มีนาคม : อิตาลีสั่งปิดประเทศ
11 มีนาคม : WHO องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่
17 มีนาคม : อิตาลีมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 475 รายในวันเดียว คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตต่อวันที่สูงที่สุดในโลก
19 มีนาคม : อิตาลีมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก

เกิดอะไรขึ้นกับประเทศอิตาลี?

จากการวิจัยของนักระบาดวิทยา มหาวิทยาลัย อ็อกซ์ฟอร์ด และหน่วยงานต่าง ๆ พบว่ามี 5 ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้อิตาลีมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจาก โควิด-19 สูงกว่าประเทศอื่นก็คือ

Credit : www.bloomberg.com
  1. อิตาลีมีประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
    เป็นที่รู้กันชัดเจนว่า กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ คือกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเสียชิวิตจากโรคนี้สูง ซึ่งประชากรกว่า 23% ของอิตาลีมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  2. วัฒนธรรมครอบครัวที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้สูงวัย
    ครอบครัวในอิตาลีส่วนใหญ่เป็นครอบครัวแบบขยาย คืออยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ไปจนถึงหลานเหลน และทุกคนในครอบครัวสนิทใกล้ชิดกัน ใช้เวลาด้วยกันค่อนข้างมาก แม้ประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกคือ ประเทศญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นไม่ได้มีลักษณะครอบครัวแบบขยาย จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าอิตาลี
  3. สหภาพยุโรป
    มีเสียงร้องเรียนออกมาว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การแพร่ระบาดในอิตาลีเข้าขั้นวิกฤติก็คือ เหล่าประเทศในสหภาพยุโรปที่ “ไม่ทำอะไรเลย” ช่วงที่เริ่มมีการระบาดแรก ๆ อิตาลีได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์ประสานงานรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นศูนย์เฉพาะที่ตั้งขึ้นมาสำหรับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ปรากฎว่าไม่มีประเทศไหนตอบรับคำร้องขอของอิตาลีเลย ซ้ำร้าย เยอรมนี ฝรั่งเศส สาธารณรัฐเช็ก และโปแลนด์ ประเทศผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่ออกประกาศห้ามส่งออกหน้ากากทันที ทำให้อิตาลีขาดแคลนหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการป้องกันตัวจากไวรัสชนิดนี้
  4. มลภาวะทางอากาศ
    อิตาลีมีมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ ทำให้ระบบทางเดินหายใจของผู้คนไม่แข็งแรงเท่าที่
  5. วินัย ลักษณะนิสัย และพฤติกรรมการใช้ชีวิต
    คนอิตาลีเป็นคนที่ชอบพบปะ พูดคุยกัน นิยมทำกิจกรรมกลางแจ้ง จึงใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ แม้ในเวลาที่รัฐบาลประกาศปิดประเทศในช่วงที่มีการระบาดเกิดขึ้นใหม่ ๆ และขอความร่วมมือให้คนอิตาลีอยู่แต่ในบ้าน คนก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ทำให้การ lockdown ของอิตาลีไม่เคร่งครัดเท่าที่ควร เป็นเหตุให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
แล้วทำไมคนสูงอายุถึงมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนหนุ่มสาวหรือเด็ก ๆ ล่ะ?

ผลจากการวิจัยพบว่า ปอด ของผู้สูงอายุนั้นผ่านการใช้งานมาเยอะกว่าเด็ก ๆ ทำให้ปอดถูกทำลายไปบ้างแล้ว จึงไม่แข็งแรงพอที่จะสู้กับไวรัส ที่เข้าโจมตีปอดและระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะอย่างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ดีเท่ากับคนหนุ่มสาว อีกทั้งสุขภาพและภูมิคุ้มกันที่เริ่มถดถอยลงไปตามกาลเวลา ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงมากกว่า

Credit : Sky News

จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นรายวัน ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งของอิตาลีต้องตัดสินใจทำสิ่งที่น่าเศร้า นั่นคือการไม่ใส่ท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเพราะอุปกรณ์มีไม่เพียงพอ เท่ากับว่า โอกาสที่ผู้ป่วยที่มีอายุสูงกว่านั้นจะเสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่า

เราเรียนรู้อะไรจากอิตาลี?

สิ่งที่เหล่านักวิจัยพูดเป็นเสียงเดียวกันก็คือ

  1. เราต้องพุ่งเป่าไปที่เขตหรือพื้นที่ที่มีคนสูงอายุอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
    เพราะจุดนั้นจะเป็นจุดที่เปราะบางและอาจมีผู้เสียชีวิตได้มากที่สุด เพราะอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ในคนหนุ่มสาวและคนทั่วไปถือว่าต่ำมาก
  2. กักกันตัวเองและเขตพื้นที่ให้ถูกต้อง ประชาชนทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเองและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
  3. เตรียมบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้พร้อม บริหารจัดการการใช้ให้เหมาะสม เพราะนี่คือหัวใจสำคัญ และกำลังสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาด และต่อสู้กับไวรัส

เพราะโรคระบาดนี้แพร่จาก คนสู่คน โดยการสัมผัสใกล้ชิด ไอ จาม สารคัดหลั่งต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าตัวเรามีอาการ หรือพบบุคคลเสี่ยง ไปประเทศเสี่ยง ควรดูแลตัวเอง กักตัวเองอย่างเคร่งครัด และลดการพบเจอผู้คนให้น้อยที่สุด เดินทางให้น้อยที่สุด เชื่อว่า เราจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยควบคุม และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ค่ะ

ที่มา
https://time.com/
https://www.wired.com/

แสดงความเห็น