สรุปเทรนด์! Social platform จากงาน TZA 2020

อัปเดตเทรนด์ใหม่ ๆ จาก 3 แพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดอย่าง Facebook Twitter และ TikTok

ในทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าโลกของโซเชียลมีเดียขยายใหญ่และเติบโตขึ้นมาก อิงจากข้อมูลในช่วง Forum Day ในงาน Thailand Zocial Award 2020 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ใช้งานไม่ได้แตกต่างไปจากปีก่อนเลย แต่เปอร์เซ็นต์การใช้งานกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 36% เราจึงได้เห็นโซเชียลแพลตฟอร์มเกิดใหม่มากมาย ให้เราได้เลือกใช้งานได้ตรงความต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็น Influencer ที่มักจะถือโซเชียลแพลตฟอร์มกันมากกว่า 2 แพลตฟอร์มขึ้นไป

   ด้วยพฤติกรรมการใช้งานและความสนใจของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็ต้องศึกษาและพัฒนาตัวเองให้ตอบโจทย์ได้มากที่สุด อย่างเช่น ในปีที่ผ่านมา มีข้อมูลจากทาง Facebook ออกมาว่า ผู้ใช้งานในแพลตฟอร์มของ Facebook Watch เริ่มหันมาสนใจและเสพคอนเทนต์ที่เป็นรูปแบบของวิดีโอมากขึ้น หรือทางฝั่ง Google ที่เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้คนเริ่มหันมาสนใจและค้นหาในเรื่องของ Financials หรือ เรื่องการเงินมากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ ถึงเกือบ 5 เท่า

   เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาอัปเดตเทรนด์โซเชียลกันหน่อย ว่าในปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2020 นี้ มีเทรนด์หรือสิ่งใหม่อะไรเกิดขึ้นบ้างในแต่ละแพลตฟอร์ม เราสรุปและยกตัวอย่าง 3 แพลตฟอร์มเด่น ๆ มาให้ดูกันค่ะ

เริ่มกันที่ “Facebook และ Facebook Watch : ตอบโจทย์คนชอบดูคลิป”

    จาก Forum Day ที่ผ่านมา ทางเฟซบุ๊กประเทศไทยเปิดเผยว่า มีการใช้งาน, พูดคุย หรือติดต่อซื้อขายสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคในแอปฯ Messenger เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงฟีเจอร์ Stories ของทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมนั้นก็ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน อาจจะเพราะเป็นฟีเจอร์ที่คงคอนเทนต์ไว้แค่ 24 ชั่วโมง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถลงคอนเทนต์ของตัวเองได้บ่อยขึ้น โดยไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการรบกวนหน้าไทม์ไลน์มากจนเกินไป

   หรือแม้แต่การเสพคอนเทนต์ที่เป็นรูปแบบวิดีโอนั้น ก็ทำให้ฟีเจอร์อย่าง Facebook Watch ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดย Facebook Watch ได้เปิดเผยสถิติออกมาว่า ในหนึ่งวันจะมีผู้เข้าใช้งานทั่วโลกถึง 140 ล้านคน เฉลี่ยเวลาในการรับชมต่อหนึ่งคนนานถึง 26 นาที

   ทำให้ในปีนี้ทาง Facebook Watch ได้เพิ่มรูปแบบคอนเทนต์เข้ามาเพื่อยกระดับการใช้งานให้ตอบโจทย์มากขึ้นถึง 3 แบบด้วยกัน

1. Premium Content

    เป็นการผลิตคอนเทนต์แบบพรีเมียม ที่ไม่มีในแพลตฟอร์มอื่น โดยแต่ละคอนเทนต์ ผู้ใช้งานสามารถรับชมผ่านทาง Facebook Watch ช่องทางเดียวเท่านั้น อย่างเช่น รายการ “Answer Now If You Can” ของคุณ วู้ดดี้ พิธีกรรายการชื่อดัง

2. Culturally relevant and global

    เป็นการสร้างประสบการณ์ความประทับใจแบบเรียลไทม์กับคอนเทนต์ Exclusive ที่ตอบโจทย์คนรักกีฬา เช่น การพาไปชมความพิเศษหลังเกมการแข่งขันบาสเก็ตบอลรายการระดับโลกอย่าง NBA หรือแม้แต่การเข้าไปชมล็อกเกอร์, ห้องพักของนักกีฬาผ่านทางคลิปวิดีโอ

3. Sustainable programs for creators and publishers

     เป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาเพื่อตอบโจทย์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์โดยเฉพาะ โดยมีการจับมือกันระหว่างผู้ผลิตกับทางเฟซบุ๊ก เพื่อให้บรรดาครีเอเตอร์ได้สร้างคอนเทนต์และนำเสนอรายการที่ดีและมีความหลายหลายให้ผู้ใช้งานได้ดูกัน

    นอกจาก 3 สิ่งที่เกิดขึ้นใน Facebook Watch แล้ว ทางเฟซบุ๊กยังบอกด้วยว่า วิดีโอคอนเทนต์ที่เป็นรูปแบบแนวตั้งนั้น ก็ได้รับความนิยมและมีเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักเล่นมือถือในแนวตั้งมากกว่าแนวนอน ทำให้การรับชมวิดีโอแนวตั้งสร้างความสะดวกในการรับชมมากกว่าการที่ต้องหมุนโทรศัพท์มือถือให้เป็นแนวนอน อีกทั้งยังเป็นคอนเทนต์ที่เต็มหน้าจอและให้ความรู้สึกใกล้ชิดกว่ารูปแบบแนวนอนเสียอีก   

    “Twitter : ตอบโจทย์แบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น”

   ในปีที่ผ่านมาผู้ใช้งานแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ในประเทศไทยได้มีการทวีตข้อความและสนทนากันมากถึง 1.4 พันล้านข้อความต่อปี

    โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเทรนด์ใหม่ในทวิตเตอร์คือผู้ใช้งานส่วนใหญ่หันมาพูดถึงและสนใจ, ให้ความสำคัญต่อสังคมส่วนรวมสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สังเกตได้จากแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมและขึ้นเทรนด์ในแต่ละช่วงเวลา อย่างเช่น #ไฟป่าออสเตรเลีย #Saveอุบล #Saveโคราช หรือแม้กระทั่ง #Saveปีโป้ม่วง เป็นต้น

และ Twitter ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในการโฆษณาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น อย่างเช่น การแสดงรูปภาพของแฮชแท็กโฆษณาที่อยู่บนฟีเจอร์จัดอันดับเทรนด์

    และอีกฟีเจอร์ คือ การตั้งวันและเวลาที่ต้องการทวีตข้อความได้เช่นกัน ถือว่าเป็นการตอบโจทย์กับแบรนด์หรืออินฟลูเอนเซอร์ในการสร้างคอนเทนต์โปรโมตด้วย

    ในแง่ของการตลาดเริ่มมี Influencer บนแพลตฟอร์มนี้เพิ่มมากขึ้น เมื่อไหร่ที่คนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์บนทวิตเตอร์ เริ่มมีการหยิบยกหรือพูดถึงประเด็นใดขึ้นมา ผู้ใช้งานจะเริ่มหันมาสนใจจนกระทั่งประเด็นดังกล่าวเกิดเป็นกระแสหรือติดเทรนด์ขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ

    ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มมีการโปรโมทสินค้าหรือแคมเปญผ่านวิธีการทวีตข้อความของอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าตัวแบรนด์เอง เนื่องจากการบอกต่อของอินฟลูเอนเซอร์จะเหมือนการทวีตข้อความบอกเพื่อน ทำให้ผู้คนเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายกว่า รวมไปถึงการคิดแฮชแท็กเฉพาะสินค้าหรือแคมเปญนั้น ๆ ให้ขึ้นเทรนด์ของทวิตเตอร์ ยิ่งทำให้แบรนด์มีเปอร์เซ็นที่จะได้รับความสนใจได้ง่ายมากขึ้น

     “TikTok : ตอบโจทย์คนครีเอเตอร์และคนชอบดูคลิป”

อีกหนึ่งแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงเทรนด์โซเชียลเลยก็ว่าได้ เป็นแพลตฟอร์มผลิตคอนเทนต์วิดีโอแนวตั้งมีความสั้นแค่ 15 วินาที ตอบโจทย์คนที่ชอบสร้างสรรค์ ชอบเสียงเพลง และความสนุก รวมไปถึงตอบโจทย์คนที่ชอบดูวิดีโอด้วย เพราะใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาทีในการดูหนึ่งคลิป ถึงแม้ว่าผู้ใช้งานจะมีเวลาว่างแค่ 5 นาที ก็สามารถดูวิดีโอไปได้หลายสิบคลิปเลยทีเดียว

ในแพลตฟอร์มนี้ผู้ใช้งานสามารถทำคอนเทนต์อยู่ในช่องของตัวเองได้ ใครก็สามารถสร้างวิดีโอของตัวเองได้ ไม่ต้องเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ทำได้ ผู้คนจึงสนใจเข้ามาใช้งานบนแพลตฟอร์มนี้มากขึ้นน้อง อีกทั้งวิดีโอแนวตั้งก็กำลังได้รับความนิยมตามที่เฟซบุ๊กได้กล่าวไว้

ทำให้ TikTok ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ออกมาตอบโจทย์ทั้งบรรดาครีเอเตอร์และคนที่ชอบดูวิดีโอ อีกทั้งยังเข้ามาสร้างเทรนด์วิดีโอแนวใหม่ให้กับคนทั่วโลกอีกด้วย

      โดยสรุปแล้วในปี 2020 นี้ ในแต่ละแพลตฟอร์มมีความน่าสนใจ ดูน่าสนุกมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มสิ่งใหม่ ๆ มาเสิร์ฟทั้งผู้ใช้งานและแบรนด์ครีเอเตอร์ให้ได้ประโยชน์ร่วมกันด้วย ถือว่าเป็นการเติบโตและพัฒนาให้โลกโซเชียลมีเดียน่าอยู่ มีความสร้างสรรค์ และมีคุณภาพเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนในครึ่งปีหลังหรือปีต่อไป จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงและอัปเดตอีกบ้าง มารอติดตามไปด้วยกันค่ะ   

แสดงความเห็น