คุณเคย ‘ฉอด’ รึเปล่า?

ฉอดคืออะไร?

คำว่า ฉอด ตามราชบัณฑิตยสถาน เขาบอกว่า “เป็นอาการที่พูดหรือเถียงไม่หยุดปาก เช่น พูดฉอด ๆ เถียงฉอด ๆ” แต่ช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเคยได้เห็นคอมเมนต์จากในโซเชียลอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กหรือข่าวดารา

แล้วจริง ๆ มันหมายความว่าอะไรล่ะ?

เท่าที่เรารวบรวม แล้วก็เฝ้าดูคำนี้มา หมายถึง การแสดงความคิดเห็นหรือการถกเถียง ที่ทำให้เกิดการโต้แย้ง ปะทะ กันในบริบทนั้น 

เพื่อน ๆ ลองคิดง่าย ๆ หลายคนน่าจะเคยทำ ก็คือเราแชร์เพลงจากยูทูป แอปฯ เพลง ลงโซเชียล ว่า “เพลงนี้ดีจัง อยากให้ทุกคนได้ฟัง” แต่กลับมีคนมาเมนต์ต่อว่า “ไม่เห็นจะดีเลย งั้น ๆ แหละ แมสอ่ะไม่อยากฟัง” 

หรือ เรื่องที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย เพื่อน ๆ เคยอ่านคอมเมนต์ในเพจดัง ๆ ที่แชร์ข่าวที่กำลังเป็นกระแสไหมคะ โอ้โห ฉอดกันไม่หยุด แสดงความคิดเห็นแรง ๆ ทั้งนั้น หลายครั้งที่คอมเมนต์เหล่านั้นทำร้ายเหยื่อ จนถึงขั้นฟ้องร้องเลยก็มี อย่างที่คุณทราย เจริญปุระ ฟ้องร้องคนที่แสดงความคิดเห็นในเชิงคุกคาม ส่วนตัวเราคิดว่าคุณทรายมีสิทธิ์ที่จะทำ และมีกฎหมาย จำพวก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ คุ้มครองอยู่ค่ะ

Twitter : @charoenpura

ซึ่งฉอดเองก็มีหลายแบบนะคะ ทั้งในแบบที่สร้างสรรค์ ข้อมูลถูกต้อง หรือฉอดแบบไม่สร้างสรรค์ ทำไปแค่ความสะใจส่วนตัว ทำให้เกิด Hate Speech และนำไปสู่ Cyberbullying ได้ แต่ก่อนจะตัดสินว่าผิดหรือถูก ก็ขึ้นอยู่กับ “วิจารณญาณของผู้อ่าน” และ “ความถูกต้องของข้อมูล” ด้วยว่า PC (Political Correctness) หรือ NON-PC 

Political Correctness อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ความถูกต้องในสังคม ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เพศ สติปัญญา ความบกพร่องทางร่างกาย ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น มุกตลกบางมุกก็เสียดสี ซึ่งบางคนคิดว่าขำ ๆ แต่สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่เห็นด้วย หรือประโยคที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น คนในวงการบันเทิงโพสต์ทวิตยินดีกับหนังที่ได้รางวัล แต่กลับมีคนที่เห็นต่าง ฉอดกลับไปด้วยคำที่รุนแรง ทำให้หลายคนคิดว่าทั้งคู่ไม่ถูกต้อง มีทางออกที่ดีได้มากกว่านี้ เลยออกมาแสดงความคิดเห็นให้เกิดความถูกต้องอย่างสร้างสรรค์ค่ะ

ตัวอย่างบทสนทนา ‘ฉอด’
ตัวอย่างบทสนทนา ‘ฉอด’
ตัวอย่างบทสนทนา ‘ฉอด’

แล้วเพื่อน ๆ สังเกตไหมว่า มันมีเยอะขึ้น รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอะไรกัน?

เราได้ไปอ่านบทความหนึ่งมา เขาได้บอกว่า ที่ทุกคนแสดงความคิดในโลกออนไลน์ มักจะดุเดือด หยาบคาย ก้าวร้าว และใช้อารมณ์นำเหตุผล เพราะว่า

  • ต้องการเรียกร้องความสนใจ และพฤติกรรมหมู่ เห็นว่าใคร ๆ เขาก็ทำกัน ก็เลยทำบ้าง
  • หรือ บางคน ในชีวิตจริงอาจจะถูกกดขี่ ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม เลยใช้โซเชียลมีเดียแสดงความก้าวร้าวของตัวเอง เพื่อการสร้างความพอใจให้ตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงจิตสำนึกต่อสังคม

ด้วยความที่โซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่สาธารณะ ใคร ๆ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ เป็นสิทธิ์ของเขา ที่จะพูดอะไรก็ได้ผ่าน Account ของตัวเอง บางคนก็ปกปิดตัวตนบนโลกออนไลน์ เพื่อจะได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองได้มากขึ้น ทั้งด้านดีและไม่ดี เพราะคิดว่าไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วเขาคือใคร

Credit: ViChizh

แล้วเคยรู้ผลของการฉอดบ้างไหม?

จริง ๆ แล้ว ฉอดแบบไม่สร้างสรรค์ก็เข้าข่ายเป็น Hate Speech ได้ ถ้าพูดด้วยการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง สร้างความเกลียดชัง เป็น Toxic Comment จนนำไปสู่ Cyberbullying ถ้าใช้คำที่เหยียด ว่าร้ายใส่กันเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่า

แน่นอน อย่างแรกต้องส่งผลกระทบด้านอารมณ์นะคะ ด้วยความที่ทั้ง 2 ฝ่ายเกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูก ใช้อารมณ์นำเหตุผล ยิ่งตอบโต้ยิ่งหัวร้อน หรือคำที่ในทวิตเตอร์ชอบใช้ก็คือ ปสด. ทำให้เกิดความเครียด โมโห อาจถึงขั้นควบคุมอารมณ์ไม่ได้ในชีวิตจริง

และอย่างที่บอกไปว่าอินเทอร์เน็ตสมัยนี้มันเร็วมาก ๆ ไปไกลมาก ๆ ถ้าเกิดมีคนแสดงความเห็นที่ว่าร้าย ด่ากันมากขึ้นเรื่อย ๆ ควบคุมไม่ได้ อาจจะทำให้ผู้ที่ถูกกระทำรู้สึกแปลกแยก หวาดกลัว ไม่มั่นใจในตัวเองได้ หลายคนน่าจะเคยรู้ถึงความร้ายแรงของ Cyberbullying ที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้า ไปจนถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มีเยอะมาก ๆ  อย่างในออสเตรเลีย กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) มักจะถูกบูลลี่ เลือกปฏิบัติ จนทำให้เป็นกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในกลุ่มประชากรของออสเตรเลียเลย

Credit: metroparent.com

แล้วเราจะ “ฉอด” แบบสร้างสรรค์ได้ยังไงบ้าง?

เตรียมตัวก่อนฉอด

ก่อนที่เราจะฉอดใคร อย่างแรกที่เราต้องมั่นใจเลยคือข้อมูลที่ถูกต้องนะคะ เราเห็นต่างเพราะอะไร คิด วิเคราะห์ แล้วก็ใช้วิจารณญาณ ศึกษาหาข้อมูลให้รู้จริงก่อนตอบโต้ เพื่อที่จะได้แสดงความคิดเห็นได้ถูกต้อง ไม่โดนแหกกลับนะคะ ฮ่า ๆ

มีจิตสำนึกต่อสังคม ไม่ยัดเยียดการฉอด

การแสดงความคิดเห็นในโซเชียล ก็เป็น Free Speech ที่ใคร ๆ ก็สามารถพูดอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อสังคม พิมพ์ไปแล้วเกิดผลเสียเป็นวงกว้างไหม พวก Fake News ที่ถูกแชร์ ถูกรีทวิตไปไกลแล้ว แต่ไม่ยอมลบ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดเป็นวงกว้าง 

และการพูดกันดี ๆ ยอมรับความเห็นต่าง ไม่เหยียดความคิดใคร ก็ย่อมดีกว่าพูดร้ายใส่กัน และจบลงด้วยความขัดแย้งค่ะ

ยอมรับผล และ รับมือ

เหรียญมักมี 2 ด้านเสมอนะคะ แน่นอนว่าต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คำที่เราพิมพ์ไปเล่น ๆ คิดว่าไม่มีอะไร แต่คนกลับเห็นเป็นล้าน ๆ ครั้ง อาจจะมีทั้งคนที่ชอบ แต่บางคนอาจจะไม่พอใจ เราต้องยอมรับกับผลลัพธ์ที่เราฉอดไป และรับมืออย่างมีสติค่ะ

สุดท้ายแล้ว เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับอารมณ์แทบจะทั้งหมดเลยนะคะ อินเทอร์เน็ตเร็ว มือเราก็เร็วเหมือนกัน ไม่พอใจปุ๊บก็พิมพ์ลงโซเชียลปั๊บ ดังนั้น ถ้าเรามีสติ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ก่อนจะตอบโต้หรือแสดงความคิดเห็น ก็จะทำให้ไม่เกิดความรุนแรงในโซเชียลได้ และทำให้สังคมโซเชียลเราน่าอยู่ไปนาน ๆ ค่ะ

แสดงความเห็น