IO คืออะไร? รับมือยังไงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ!
ช่วงนี้เป็นช่วงที่การเมืองไทยกำลังดุเดือดกันมากนะคะ ไถฟีดในช่องทางต่าง ๆ ก็จะเห็นข่าวเพียบเลย หนึ่งประเด็นร้อนแรงในประเทศไทยตอนนี้ ก็คือ IO หรือ Information Operation กลยุทธ์การสื่อสารที่ใช้เผยแพร่ความคิดและความเชื่อของเราไปหาอีกฝ่าย โดยการค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปทางความคิดของเขาเรื่อย ๆ แบบที่เขาไม่รู้ตัว
หลักการ IO นี้ทำยังไง?
ทำไมถึงถูกนำมาใช้ในยุทธศาสตร์ทางการเมือง?
ในฐานะผู้เสพข่าวอย่างเรา ๆ จะรู้ได้ยังไง อันไหนเรื่องจริง เรื่องโกหก? ทำยังไงถึงไม่ถูกชักจูงไปโดยไม่รู้ตัว?
IO คืออะไร? จริง ๆ แล้ว IO ไม่ใช่สิ่งใหม่ เป็นกลยุทธ์การสื่อสารที่มีมานานแล้ว สมัยก่อนถูกนำมาใช้เชิงการได้เปรียบของการรบ การทำสงคราม
เป้าหมายของการทำ IO ก็มีทั้งทำเพื่อป้องกัน และ โจมตี โดยหลักการของการทำงาน ก็คือ การเผยแพร่ “ความคิดและความเชื่อ” ของทางเรา ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เขาเกิดความเชื่อ คล้อยตาม และมามีความคิดแบบเดียวกับเรา
และในขณะเดียวกันเราก็ใช้ IO นี้เพื่อดิสเครดิต หรือ โจมตีศัตรูเราได้ โดยการสร้าง ดัดแปลง บิดเบือนข้อมูลจากความจริง ให้มันเป็นเรื่องหลอกลวงได้ เพื่อสร้างความเกลียดชัง ขัดขวางการทำงานฝ่ายตรงข้าม
ฉะนั้น IO ถึงกลายเป็นอาวุธสำคัญ เป็นกลยุทธ์ที่เอาไว้เล่นกับความเชื่อ
เปลี่ยนเบื้องลึกจิตใจคนได้เลย
ตัวอย่างเหตุการณ์ IO ที่โดดเด่นเป็นที่จับตาระดับโลก เช่น กรณีสงครามเย็น สงครามที่เกิดขึ้นในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ขั้วอำนาจด้านเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา แย่งชิงความเป็นใหญ่กับขั้วอำนาจสังคมนิยมสหภาพโซเวียต ที่เรียกว่าสงครามเย็นเป็นเพราะ สหรัฐอเมริกาไม่ได้จับอาวุธขึ้นรบกับสหภาพโซเวียตโดยตรง แต่ต่อสู้กันผ่านสงครามตัวแทนอย่างสงครามเวียดนาม และสงครามเกาหลี ไปจนถึงการใช้ข้อมูลข่าวสารชิงดีชิงเด่นสร้างความได้เปรียบให้กับฝ่ายตัวเอง เช่น เรื่องการส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดาวอังคารว่าเป็นเรื่องจริงหรือเป็นแค่เรื่องลวงโลกกันแน่ จนกลายเป็นกรณีศึกษาเรื่อง IO ชื่อดังระดับโลก
ประเทศไทยเรา ตัวอย่างเคสความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ก็เป็นผลพวงมาจาก IO เหมือนกัน
วิธีการทำงานของ IO แบบง่ายที่สุดคือ “หาจุดสนใจ” ดูว่าตอนนี้สังคมกำลังพูดกันถึงเรื่องอะไร และ “จับคีย์เวิร์ดให้ได้” สร้างคีย์เวิร์ดขึ้นมา เพื่อเล่นกับความรู้สึกของคนในช่วงนั้น เสริมเติมแต่งเรื่องราวจากข้อเท็จจริง จนกลายเป็นการปลุกปั่นความคิดคน
ทำไม IO ในยุคปัจจุบัน มีความร้ายแรงทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ?
มาถึงยุคปัจจุบัน IO ก็ไม่ได้หายไปไหน ยิ่งในโลกที่มีอินเตอร์เน็ต โซเชียลมิเดียเป็นเรื่องใกล้ตัว การหันมาสนใจ Data เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเริ่มตระหนักและเริ่มใช้ประโยชน์จากมัน ความร้ายแรงของมันยิ่งสลับซับซ้อน และอาจถึงขั้นล้างสมองคนได้โดยที่เราไม่รู้ตัว
เราสามารถเข้าหากลุ่มคนที่เราต้องการได้แบบง่ายดายผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เจาะไปที่ความสนใจของคนกลุ่มนั้น ๆ วิเคราะห์พฤติกรรม รสนิยม อะไรบางที่เกี่ยวกับเขา พอเรารู้ปุ๊บก็เริ่มสร้าง IO หาคนกลุ่มนี้ มันง่ายมากที่จะยิงปืนได้ถูกเป้า ถูกจุด โดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ อาจถูกแทรกมาในรูป # หรือเรื่องที่อยู่ในกระแสตอนนั้น
เมื่อความเชื่อของเราโดนท้าทายเรื่อย ๆ มันก็จะเริ่มสั่นคลอน การมีจุดยืนในช่วงแรกแต่แล้วกลับโดนกระแสสังคมโจมตีว่าเป็นสิ่งที่ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกป้อนข้อมูลชุดเดิม ๆ มากเข้า ในที่สุด ความเชื่อของเราก็จะเปลี่ยนไป จุดยืนของเราก็จะหายไป และเมื่อเราอยู่สภาวะนี้นาน ๆ สุดท้ายแล้วอาจโดนล้างสมองไปเลยก็ได้
ยิ่งโลกที่หมุนเร็ว คนเข้าถึงข่าวสารง่าย อ่านง่าย แชร์ง่าย คอมเมนต์ง่าย หลายครั้งเราเลยตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
ยกตัวอย่างกรณีศึกเลือกตั้งระหว่าง Donald Trump และ Hilary Clinton ที่มีกรณีข้อมูลส่วนตัวจาก Facebook หลุดผ่านแคมเปญ Cambridge Analytica ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวนำมาใช้เพื่อการทำ IO สนับสนุนเสียงโหวตฝ่าย Donald Trump
วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือ เป็นเหยื่อของ IO
วิธีที่ง่ายที่สุดคือ “มีสติในการเสพข่าว” ไม่เชื่ออะไรง่ายเกินไป เมื่อเจอเรื่องแปลก ๆ หรือ ไม่ว่าได้ยินหรือ อ่านอะไรมา ให้เราคิดพิจารณาในหลาย ๆ มุม ว่ามัน Make sense ไหม? หาข้อมูลหรือแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือในการเสพ เลือกเสพข่าวที่มาจาก official หรือ สื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น ก็เป็นการช่วยป้องกันเรื่องนี้ได้
ในฐานะ User ที่เสพสื่อ ติดตามเรื่องราวข่าวสารบนโลกออนไลน์คนนึง อยากสนับสนุนรณรงค์ให้เพื่อน ๆ ที่เสพข่าวเหมือนกัน คิดเยอะ ๆ ก่อนแชร์ เช็กให้ชัวร์ว่าข่าวหรือเรื่องที่เรากำลังจะแชร์ ไม่ใช่เรื่องปลอม ข่าวมั่ว แล้วค่อยแชร์ เพื่อไม่สร้างความตื่นตระหนกให้สังคม ไม่เป็นหนึ่งในเครื่องมือ ที่จะสร้างความเกลียดชัง ปลุกปั่นเรื่องร้อนแรงให้ใคร
ช่วงนี้ทุกอย่างรอบตัวเราดูเหมือนจะดุเดือดไปหมดเลย ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใช้โซเชียลอย่างชาญฉลาดกันนะคะ ขอให้ทุกคนมีความสุขและสนุกไปกับโลกเทคโนโลยีค่า
เรื่องโดย : กุสุมา เกตุมะณี
พิสูจน์อักษรและเรียบเรียงโดย : อรชพร ชลาดล
ใครชอบดูแบบวิดีโอ กดด้านล่างได้เลยค่า