ส่งเสริมธุรกิจคนรุ่นใหม่ ด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

ต้นแบบเสริมแกร่งให้ธุรกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญา


การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแนวทางที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อผลักดันประเทศไทยให้พัฒนาสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Thailand 4.0 โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ รวมทั้งสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพหรือ Smart Entrepreneur เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจยุคใหม่ที่มีมูลค่าสินค้าหรือบริการสูง หรือ Smart Enterprise อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนประเทศจากที่ประชากรมีรายได้ปานกลางเป็นมีรายได้สูง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ข้างต้นนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้สามารถคิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนาต่อยอดสินค้าหรือบริการของตนให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้โดยอาศัยการวิจัยและพัฒนาเพื่อเน้นการสร้างเทคโนโลยีของตนเองและขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจของตนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

เพื่อสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลและเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมทั้งเพื่อดำรงบทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการค้า การส่งเสริมการสร้างสรรค์ การสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์ และสร้างความตระหนักในการปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมาย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่กรมได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลข้างต้นให้เป็นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงยั่งยืน เพื่อให้ภาคธุรกิจของไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

รางวัล “IP Champion” ซึ่งเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จที่กรมทรัพย์สินทางปัญญามอบให้แก่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในสาขาสิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลหรือหน่วยงานที่สร้างประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และนำทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการจนประสบความสำเร็จ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ได้รับรางวัลได้เป็นต้นแบบแก่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญารายอื่นได้นำเอาแนวทางการปกป้องคุ้มครองและการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นระบบ และสนับสนุนการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปช่วยเหลือผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมๆ กันในทุกระดับ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กรมได้ดำเนินการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2561 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มอบรางวัล IP Champion แก่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญารวม 7 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลด้านทรัพย์สินทางปัญญาดีเด่น สำหรับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาที่มีแนวคิดที่โดดเด่นและมีแนวทางการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นประโยชน์ จำนวน 4 รางวัล และรางวัลด้านองค์กรที่มีการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาดีเด่น สำหรับองค์กรธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันอุดมศึกษา ที่มีแนวคิดและนโยบายในการสร้างสรรค์และการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กร รวมทั้งการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือการอุทิศทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นสาธารณสมบัติหรือใช้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการอื่นในการทำธุรกิจ จำนวน 3 รางวัล

รางวัล IP Champion ด้านทรัพย์สินทางปัญญาดีเด่น 4 รางวัล ประกอบด้วย

สาขาลิขสิทธิ์ ได้แก่ ผลงาน คาแรกเตอร์ดีไซน์ ตัวการ์ตูน Majory, Space Traveler โดยบริษัท สวีท ซัมเมอร์ จำกัด

สาขาเครื่องหมายการค้า ได้แก่ ผลงาน “ใบไม้บางจาก” สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น โดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

สาขาสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ได้แก่ ผลงานการประดิษฐ์ตู้อบและรมควันยางพาราเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพของห้องอบและรมควันยางพาราแบบดั้งเดิม โดยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความชื้นจากภายนอก ลดปัญหาความร้อนไม่เสถียร ลดระยะเวลาการอบและรมควัน รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัย ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง แรงงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยนายทวีป แก้วศรี

สาขาสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลงานการออกแบบรองเท้านินจา (รองเท้าบูทผ้า) ที่ปรับปรุงรองเท้าซึ่งมีคุณสมบัติในการปกป้องฝ่าเท้าและลำแข้งจากการทิ่มตำขีดข่วนขณะทำงานในสวนให้เป็นรองเท้าอเนกประสงค์สำหรับทุกกิจกรรมที่ต้องการความสบายและปลอดภัย โดยนางศิริณณภัส สวัสดิวรนันท์

รางวัล IP Champion ด้านองค์กรที่มีการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาดีเด่น 3 รางวัล ประกอบด้วย

สาขาองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

สาขาองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก และ Startup ได้แก่ บริษัท ยาดี จำกัด

และสาขาสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อว่าความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น จะเป็นแรงบันดาลใจให้ ผู้ประกอบการ นักคิด นักประดิษฐ์ นักออกแบบ นักวิจัย ตลอดจนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในสาขาต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบ มีการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขาดโอกาสหรือขาดความรู้ในการเข้าถึงข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาให้สามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาที่คนไทยเป็นเจ้าของไปใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการให้เกิดมูลค่า เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป

แสดงความเห็น