10 คำพื้นฐานเอาไว้คุยกับช่างภาพให้รู้เรื่อง!

เคยไหมคะ เวลาที่เราจะไปถ่ายรูปแล้วเห็นเพื่อนถ่ายรูปสวยมาก ๆ แต่พอถามเจ้าตัวว่าถ่ายแบบไหน ตั้งกล้องถ่ายยังไง? เพื่อนเราที่คุยภาษามนุษย์รู้เรื่องเมื่อครู่นี้ก็พ่นภาษากล้องออกมาเป็นสิบคำจนเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรจนจับต้นชนปลายไม่ถูก พอถามกลับก็ไม่ยอมอธิบายเราอีก! (ฮา)

ไม่เป็นไรค่ะ! สิ่งที่ไม่รู้เราจะได้รู้กันคราวนี้ เพราะเฟื่องรวบรวมคำศัพท์ง่าย ๆ เอาไว้ใช้คุยกับช่างภาพให้รู้เรื่องมาให้ 10 คำ ที่เราน่าจะได้เจอบ่อย ๆ แต่ไม่เข้าใจว่ามันมีความหมายที่แท้จริงอย่างไรบ้าง? ดังนั้นวันนี้เฟื่องก็รวบรวมเอามาให้อ่านเข้าใจกันแบบง่าย ๆ เลยค่ะ! จะมีอะไรบ้าง เราไปอ่านด้วยกันเลยดีกว่า!

อย่างหนึ่งคือ ก่อนหน้านี้เฟื่องเคยเขียนบทความเกี่ยวกับกล้องมาก่อนเหมือนกัน แต่จะเป็นเรื่องของตัวกล้องเป็นหลัก แต่ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนอยากอ่านเพิ่มเติมก็สามารถคลิกที่นี่เพื่อไปอ่านต่อได้เลยนะคะ

1. Aperture (ค่ารูรับแสง)

Credit: http://bit.ly/2vs7vGc

สรุปสั้น ๆ : Aperture หรือ F-Stop เป็นค่ารูรับแสง โดยตัวเลขมากจะได้รูที่เล็ก ส่วนเลขน้อยจะได้รูรับแสงที่กว้าง โดยมีผลกับแสงในภาพนั่นเองค่ะ

อันนี้เป็นชื่ออย่างเป็นทางการของเขานะคะ แต่เรามักจะเรียกเขาว่า “F-Stop” (เอฟ สต็อป) นั่นเอง! เริ่มคุ้นแล้วใช่ไหมคะ? โดยเราจะเห็นที่เขาเขียนกันว่า f/1.8 อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งตัวเลขเป็นตัวเลขที่บอกความกว้างในการเปิดรูรับแสงของเลนส์ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าตัวเลขของเขาน้อยก็จะเปิดรูรับแสงกว้าง เช่น f/1.5 ก็จะเปิดรูรับแสงกว้างและเก็บแสงได้เยอะ ในทางกลับกันถ้าตัวเลขยิ่งเยอะ เช่น f/22 ภาพก็จะมืดไปโดยปริยายนั่นเองค่ะ!

นอกจากนี้ ค่า F-Stop เองก็มีผลกับเทคนิคถ่ายรูปแบบหน้าชัดหลังละลายที่เฟื่องเคยเขียนไปก่อนหน้านี้ด้วย ดังนั้นถ้าใครอยากอ่านเพิ่มเติมก็คลิกที่นี่ได้เลยนะคะ

2. Depth of Field (ระยะชัดลึก)

Depth of Field หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ความชัดลึก” นั่นเอง

สรุปสั้น ๆ : ระยะโฟกัสของเลนส์ที่จับวัตถุจะชัดจากหน้าถึงหลังของสิ่งนั้น แต่สิ่งที่อยู่นอกระยะจะเบลอ

ถ้าคำนี้ออกมาเมื่อไหร่แปลว่าเขากำลังคุยเรื่องระยะโฟกัสของตัวเลนส์นั่นเองค่ะ ต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องระยะชัดลึกจะเกี่ยวข้องกับระยะโฟกัสของเลนส์ โดยสิ่งที่อยู่ใกล้หรือไกลกล้องก็ชัดจากหน้าถึงหลัง แต่ว่าขอบที่อยู่นอกระยะโฟกัสก็จะเบลอไปนั่นเอง ตรงกันข้ามกับภาพแบบ Landscapes ที่เป็นภาพที่มีสิ่งให้โฟกัสในภาพเยอะ ทำให้เกิดความชัดลึกในมุมกว้างนั่นเอง

3. Exposure (การเปิดรับแสง)

ตัวอย่างภาพของการเปิดรับแสงของกล้อง
Credit: http://bit.ly/2GNGeDp

สรุปสั้น ๆ : การปรับค่า Aperture + Speed Shutter + ISO จะเรียกรวม ๆ ว่า Exposure โดยมีสามแบบ คือสมดุลย์, แสงสว่างมากหรือน้อยไปตามภาพตัวอย่าง

Exposure เป็นเรื่องการเปิดรับแสงของเซนเซอร์กล้อง โดยปัจจัยของแสงที่เข้ากระทบเซนเซอร์จะมากหรือน้อยนั้นจะเกิดจากสามอย่างด้วยกันคือ Aperture (ค่ารูรับแสง), ร่วมกับความเร็วของชัตเตอร์ (Shutter speed) และสุดท้ายคือค่า ISO

ถ้าเราตั้งค่าให้ทั้งสามอย่างสมดุลย์ก็จะทำให้ภาพออกมาสวยเช่นเดียวกับส่วนตรงกลางของภาพตัวอย่าง ส่วนทางซ้ายคือตัวอย่างของภาพที่แสงน้อยเกินไป (Underexposed) ในขณะที่ทางขวาคือแสงเข้าเซนเซอร์มากเกินไป (Overexposed) นั่นเองค่ะ

4. File Format (รูปแบบไฟล์)

รูปแบบของไฟล์แบบ .RAW ที่นิยมนำไปใช้ในโปรแกรมแต่งภาพ
Credit: http://bit.ly/2GSgqqL

สรุปสั้น ๆ : ไฟล์จากกล้องถ่ายรูปมีนามสกุลและขนาดไฟล์แตกต่างจากภาพปกติ โดยรายละเอียดที่มากและช่างกล้องนิยมนำไปใช้ตอนเข้าโปรแกรมแต่งภาพ

File Format คือนามสกุลของไฟล์ที่ได้จากกล้องถ่ายรูปค่ะ ซึ่งตัวกล้องเวลาถ่ายรูปมาแล้วก็จะได้เป็นนามสกุลไฟล์ต่าง ๆ โดยนามสกุลที่นิยมที่สุดคือ RAW ที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ ในภาพไว้ได้ละเอียดที่สุด เพื่อเอาไปแต่งในโปรแกรมแต่งภาพต่อโดยรายละเอียดของภาพจะชัดและแน่นกว่าไฟล์ .jpg อย่างแน่นอน แต่ไฟล์ก็จะมีขนาดใหญ่พอควรเช่นกัน

5. Focus (โฟกัส)

กล้องไม่โฟกัสเพราะความชัดอยู่ที่เธอ ที่รูปมันเบลอเพราะเธอคือความชัดเจน (ฮา)
Credit: http://bit.ly/2Lr1wwj

สรุปสั้น ๆ : Focus เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อบอกว่าสิ่งที่กล้องจับโฟกัสจะชัดเจนและสิ่งอื่น ๆ จะไม่ชัดเจนนั่นเอง

เชื่อว่านี่คงจะเป็นคำที่เพื่อน ๆ คุ้นหูอยู่แน่นอนเลยค่ะ โดยคำว่าโฟกัสของระบบกล้องกับสายตาของเราก็ความหมายเดียวกันคือ “สิ่งที่อยู่ในโฟกัสก็จะคมชัดแต่ถ้าอยู่นอกโฟกัสก็จะไม่ชัดเจนและเบลอ” โดยระบบกล้องก็จะจับโฟกัสทั้งรูปแบบอัตโนมัติและตามที่ผู้ใช้เลือกโฟกัสนั่นเองค่ะ

6. ISO (ความไวแสง)

Credit: http://bit.ly/2L7JYoy

สรุปสั้น ๆ : ISO คือความไวแสง ถ้าปรับให้เซนเซอร์ไวมากก็จะได้ Noise (จุดรบกวน) มาก แต่ถ้าน้อยก็จะได้ภาพที่มืด ดังนั้นการปรับให้สมดุลย์จะทำให้ได้ภาพที่สวยงาม

ISO ในกล้องคือตัวควบคุมระดับความไวต่อแสงที่เข้ามากระทบเซนเซอร์ภาพค่ะ ยิ่งค่า ISO สูง เซนเซอร์ก็จะไวต่อแสงมากยิ่งขึ้น โดยข้อดีของการมีค่า ISO ที่สูงก็จะยิ่งทำให้เราถ่ายรูปในที่แสงน้อยหรือมืดได้ดียิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกันถ้าไวแสงมากเกินไปก็จะสร้าง Noise หรือจุดรบกวนในภาพมากเช่นเดียวกับในภาพตัวอย่างที่เฟื่องเอามาฝากนั่นเอง

7. Long Exposure (การเปิดรูรับแสงนาน)

ตัวอย่างภาพ: Paranal Observatory โดยภาพนี้เปิดรูรับแสงนาน 45 นาที ทำให้เห็นแสงดวงดาวเป็นเส้น
Credit: http://bit.ly/2GS9DgI

สรุปสั้น ๆ : การเปิดรับแสงนานเป็นเทคนิคการถ่ายรูปของช่างกล้องเพื่อให้เซนเซอร์เปิดรับแสงเป็นเวลานานจนเห็นแสงเป็นเส้นในภาพนั่นเอง!

การเปิดรูรับแสงนานเป็นหัวใจของการถ่ายรูปแนวธรรมชาติเพื่อให้ภาพที่ได้มีจุดเด่นเรื่องการเห็นแสงเป็นเส้นอย่างที่เห็นในภาพตัวอย่างเลยค่ะ โดยเทคนิคนี้จะโดดเด่นเมื่อนำไปถ่ายในที่ที่มีแสงน้อยและสิ่งที่ต้องการถ่ายอยู่นิ่งหรือเคลื่อนที่ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ภาพที่ได้มีบุคลิกแตกต่างกันนั่นเอง

อีกแนวภาพที่นิยม คือถ่ายแสงไฟของรถยนต์ให้กลายเป็นเส้นโดยเปิดรูรับแสงนาน โดยในภาพที่เห็นนี้เปิดรูรับแสงค้างไว้ 30 วินาที
Credit: http://bit.ly/2UJq5nm

8. Noise (สิ่งรบกวนในภาพ)

สรุปสั้น ๆ : Noise เป็นตัวบอกว่าภาพที่เราถ่ายมีการตั้งค่า ISO มากเกินไปหรือมีบางค่าไม่สมดุลย์

Noise (น๊อยส์) หรือบางคนอาจจะเรียกว่า Grain (เกรน) ก็ได้เช่นกัน ถ้าได้ยินคำนี้แปลว่าภาพที่ได้เกิดจุดรบกวนในภาพขึ้นมาแล้ว เกิดจากการที่เราตั้งค่า ISO มากเกินไปจนทำให้ภาพเป็นอย่างที่เห็นในตัวอย่างด้านบน เท่าที่เฟื่องค้นข้อมูลวิธีการลด Noise ในภาพได้ดีที่สุด คือให้เราปรับค่า ISO ให้เหมาะสมแต่น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้แต่ไปปรับที่ค่าอื่นแทน

9. Shutter Speed (ความเร็วชัตเตอร์)

Credit: http://bit.ly/2vsYX1V

สรุปสั้น ๆ : ความเร็วของชัตเตอร์คือระยะเวลาที่ชัตเตอร์เปิดค้างเอาไว้เพื่อรับแสงเข้าภาพ โดยนับเป็นวินาที

คำนี้ก็ตรงตามชื่อเขาเลยค่ะ คือความเร็วชัตเตอร์คือระยะเวลาของชัตเตอร์ที่จะเปิดค้างเอาไว้เพื่อให้เก็บแสงเข้าที่ภาพ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำว่า Long Exposure ที่เพิ่งพูดถึงไปข้างบน) โดยตัวเลขที่เขียนเอาไว้คือหลักวินาทีหรือเสี้ยววินาทีที่ชัตเตอร์จะเปิดค้างเอาไว้ค่ะ เช่น 1/200 ก็จะเปิดแค่เสี้ยววินาที และ 1″ ก็เป็น 1 วินาทีเป็นต้น

10. White Balance (สมดุลย์แสงสีขาว)

Credit: http://bit.ly/2GOYtYT

สรุปสั้น ๆ : การปรับสมดุลย์แสงขาวช่วยให้สีในภาพที่ถ่ายไม่เพี้ยนไปจากความเป็นจริง

พูดไปแล้วเพื่อน ๆ อาจจะสงสัย ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าดวงตาของเรา ๆ เนี่ยจะปรับสมดุลย์แสงสีขาวให้เข้ากับแหล่งที่มาของแสงแบบอัตโนมัติอยู่แล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ว่ากล้องทำแบบนั้นไม่ได้เหมือนดวงตามนุษย์ ดังนั้นเราต้องช่วยเขาปรับค่าเสริมด้วย เพราะไม่เช่นนั้นภาพก็จะออกฟ้าหรือเหลืองมากเกินไปจนไม่สวยไม่สมจริงไปโดยปริยาย แต่ถ้าเราปรับให้เหมาะสมก็จะได้ภาพที่สมจริงที่สุดค่ะ

เป็นศัพท์พื้นฐานที่เฟื่องคิดว่าเหมาะกับเพื่อน ๆ ที่อยากสื่อสารกับช่างกล้องให้รู้เรื่องและอาจจะต่อยอดไปเป็นช่างกล้องเองก็ดีเช่นกัน ดังนั้นถ้าเราฝึกถ่ายรูปและเอาความเข้าใจพื้นฐานนี้ที่เฟื่องแนะนำไปประกอบด้วยก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนแน่นอน!

แสดงความเห็น