ความเป็นส่วนตัว ราคาที่เราต้องจ่ายให้โลกออนไลน์?

ความเป็นส่วนตัวหรือ Privacy คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี การใช้ชีวิตอย่างส่วนตัวโดยไม่มีอะไรมารบกวน ข้อมูลที่เป็นส่วนตัว ฯลฯ อดีตการรักษาความส่วนตัวนี้ไม่ได้ยากอะไร เพราะไม่ได้มีใครอยากรู้ อยากละเมิดสิทธิของเรานัก แต่เมื่อโลกมาถึงยุคดิจิทัล ที่ขึ้นชื่อว่า Data is the new oil ความเป็นส่วนตัวของเรา ถูกอัปโหลดขึ้นไปบนโลกออนไลน์ โดยเต็มใจ การหาผลประโยชน์จากความเป็นส่วนตัวนี้ จึงไม่ยากเลย

ปี 2016

ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook กว่า 80 ล้านคน รั่วไหลถึงมือบริษัท Cambridge Analytica บริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง และได้ใช้ข้อมูลนี้เพื่อหาทางโน้มน้าวใจในการเลือกตั้ง จนโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะและได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาถึงปัจจุบัน (กรณีนี้ Facebook ถูกปรับกว่า 1.5 แสนล้านบาท)

ปี 2019 

Youtube ถูกสั่งปรับกว่า 5.2 พันล้านบาท ในกรณีครอบครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่เป็นเยาวชน (อายุต่ำกว่า 13 ปี) และส่งต่อข้อมูลนี้ให้กับบริษัทโฆษณา โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง 

ปี 2020 

Google ถูกฟ้องกว่า 1.5 แสนล้านบาท กรณีละเมิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานหลายล้านคน และไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะดึงข้อมูลของผู้ใช้งานส่วนไหนไปบ้าง และใช้ประโยชน์อะไรบ้าง แม้แต่ Incognito Mode หรือโหมดไม่ระบุตัวตน เราคิดว่าปลอดภัย ไม่ทิ้งร่องรอยการค้นหา แต่ก็ถูกเก็บข้อมูลอยู่ดี

ความเป็นส่วนตัว มีราคากว่าที่เราคิด

การที่เราอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ สถานที่ทำงาน สถานที่ที่เราไป ภาพยนต์ที่เราดู กิจกรรมที่เราทำ ก็ถือเป็นการอนุญาตให้สาธารณะได้รับรู้ชีวิตส่วนตัวของเราแล้ว

เราเคยอ่านการ์ตูนเรื่องหนึ่งชื่อว่า “Killstagram” บน LINE WEBTOON ที่ตัวเอกของเรื่องมักจะอัปเดตชีวิตของตัวเองในโลกออนไลน์ เช็กอินทั้งที่อยู่ ร้านอาหารที่ไปประจำ สถานที่ทำงาน จน Staker ที่หวังจะทำร้ายรู้ความเป็นไปของชีวิตเธอในทุก ๆ มิติ 

เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในชีวิตจริง Stalker บุกลวนลามและทำร้ายร่างกายไอดอลสาวชาวญี่ปุ่นถึงที่พัก โดยวิธีการสะกดรอยมาจาก “ภาพสะท้อนในดวงตา” ของรูปที่ไอดอลโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แล้วใช้ Google Street View แกะรอยโลเคชั่นนั้น ประกอบกับภาพและวิดีโอต่าง ๆ ที่ไอดอลโพสต์ลง ก็ทำให้ Stalker คาดเดาตำแหน่งที่พักเธอได้แม่นยำ 

นี่คือกรณีที่เราเปิดเผยความเป็นส่วนตัวด้วยความยินยอม เผยแพร่มากก็เสียความเป็นส่วนตัวมาก การอัปสตอรี่พร้อมระบุโลเคชั่นแบบเรียลไทม์ คนอื่นก็จะรับรู้แบบเรียลไทม์ เราอาจจะไม่ใช่ไอดอลที่จะมีคนติดตามเยอะและมีคนหวังจะทำร้าย แต่ในมุมคนธรรมดา พื้นที่ในโซเชียลมีเดียก็อาจจะไม่ได้เป็นมิตรกับเราแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ 

อีกกรณีที่ความเป็นส่วนตัวของเราถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยที่เราไม่ยินยอมหรือเผลอยินยอม ตอนสมัครใช้ Facebook, Instagram, Twitter ฯลฯ เราได้อ่านรายละเอียดที่ต้องกดยินยอมก่อนเข้าใช้ไหมคะ? เชื่อว่ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แทบไม่ได้อ่านเงื่อนไขเหล่านั้นเลย เพราะมันยาวมาก ๆ ตัวเล็ก รายละเอียดยิบย่อย 

หนึ่งในนโยบายของ Facebook ที่เราต้องยอมรับระบุว่า Facebook ให้เราใช้ได้ฟรีนะ แต่เขาก็ต้องมีรายได้จากโฆษณาที่มาจากบริษัทต่าง ๆ ซึ่งการทำโฆษณานี้มาจากการเก็บข้อมูลส่วนตัว การใช้งานของเรา ชอบอะไร เนื้อหาที่เราดู เพื่อประมวลผลต่อว่าจะยิงโฆษณาอะไรมาหาเราดี พูดง่าย ๆ ก็คือของฟรี ไม่มีในโลก ข้อมูลเหล่านี้ล่ะ คือราคาที่เราต้องจ่าย ถ้าอยากใช้ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขนี้ 


Credit : https://www.facebook.com/legal/terms 

อีกเหตุการณ์ที่เชื่อว่าหลายคนเคยเจอ โทรคุยกับเพื่อนว่าอยากได้หม้อทอดไร้น้ำมัน วางสายปุ๊บมาเลื่อนฟีด Facebook ดู ก็เจอโฆษณาหม้อทอดไร้น้ำมันซะอย่างนั้น นี่มันเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ? Facebook ดักฟังเรารึเปล่า? หลังจากปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อยู่นาน เมื่อปี 2019 Facebook ก็ออกมายอมรับแล้วว่าดักฟังเสียงของผู้ใช้ (หากผู้ใช้ยอมให้เข้าถึง) โดยจ้างบริษัทอื่นมาถอดคลิปเสียง และอ้างว่าทำไปเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของ AI ว่าจะแปลข้อความเหล่านั้นได้ดีรึเปล่า แล้ว Facebook ก็บอกว่าเลิกดักฟังแล้วด้วย (ซึ่งเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนก็ไม่แน่ใจ) แต่เพื่อความสบายใจเราสามารถตั้งค่าปิดไม่ให้ facebook เข้าถึงไมโครโฟนได้

แล้วแบบไหนถึงเรียกละเมิดความเป็นส่วนตัว 

เหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการละเมิดความเป็นส่วนตัว บนโลกออนไลน์ยังมีอีกหลายช่องโหว่ ที่คนกลุ่มหนึ่งสามารถละเมิดและหาประโยชน์จากความเป็นส่วนตัวของเราได้ โดยเราเลือกที่จะยินยอมเสียเอง เราไม่สามารถฟันธงได้เลยว่าใครจะเป็นผู้กระทำและจะใช้วิธีใด ในฐานะผู้ใช้ทำได้เพียงใช้อย่างระมัดระวัง ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากจนเกินจำเป็น เช่น การระบุตำแหน่งที่อยู่ชัดเจน เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน การโพสต์ข้อมูลทางการเงิน โพสต์ภาพบัตรต่าง ๆ ที่มีข้อมูลสำคัญ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือการเปิดประตูให้คนอื่นมาล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวโดยเต็มใจ

ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวกันมาระยะหนึ่งแล้วนะคะ ฝั่งยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว General Data Protection Regulation (GDPR) ฝั่งสหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายป้องกันความเป็นส่วนตัวดิจิทัล California Consumer Privacy Privacy Act (CCPA) โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือส่งเสริมสิทธิความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองผู้บริโภค ใครที่โดนละเมิดสามารถฟ้องได้

ฝั่งไทยเราเองก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่ประกาศใช้ไปตั้งแต่ปี 2019 แล้ว  และคาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2020 นี้ แต่ครม. มีมติให้เลื่อนการบังคับโทษออกไปก่อนอีก 1 ปี ซึ่งกฎหมายนี้จะมาช่วยคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเรา ไม่ให้ใครนำไปใช้ได้หากเราไม่ยินยอม หากโดนละเมิดก็ฟ้องได้เช่นเดียวกัน เรามาติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วสิทธิความเป็นส่วนตัวของเราจะถูกส่งเสริมโดยรัดกุมจากกฎหมายเมื่อไร

โลกยุคดิจิทัลที่ความเป็นส่วนตัวของเราถูกเบียดบังไปทุกที สิ่งที่เราทำได้คือระวังตัวเอง ไม่เปิดประตูให้ใครมาล่วงล้ำ ปกป้องและหวงแหนความเป็นส่วนตัวของตัวเองอยู่เสมอ แม้จะปกป้องไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ส่วนที่เหลือให้กฎหมายจัดการนโยบายขององค์กรเอง 

ขอบคุณเครื่องมือจาก ZOCIAL EYE

แสดงความเห็น