ระวังถูกสวมรอย เพราะแจกข้อมูลส่วนตัว!

ในยุคเทคโนโลยีครองเมืองทำให้การเข้าถึงโลกออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะเข้าถึงเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือบริการออนไลน์ต่างๆ ทั้งหมดล้วนมีเรื่องของข้อมูลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, เลขบัญชีธนาคาร, ภาพถ่าย, ประวัติทางการแพทย์, ข้อมูลการเดินทาง, ประวัติการซื้อของออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งที่กล่าวมาเปรียบได้กับทรัพย์สินส่วนตัวที่หากใครจะนำข้อมูลของเราไปใช้จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของเสียก่อน ฉะนั้นข้อมูลส่วนตัวจึงมีมูลค่ามหาศาลและควรค่าแก่การหวงแหนมันมากขึ้น

Credit: easyevents.io

วันๆ หนึ่ง เราเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้างบนโลกออนไลน์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันคนไทยใช้ชีวิตผูกติดกับโลกออนไลน์มากขึ้น อาทิ เล่นโซเชียลมีเดีย (Facebook, LINE, Instagram และ Twitter) หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ซื้อของออนไลน์, ทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Mobile Banking, จองที่พัก เป็นต้น ซึ่งบ่อยครั้งที่เวลาเราเข้าแอปหรือบริการออนไลน์ต่าง ๆ เรามักโดนบังคับให้เราสมัครสมาชิกหรือ login ด้วยบัญชี Facebook หรือ Google โดยเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้ให้บริการจะดึงข้อมูลของเรา, อายุ, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล, ที่อยู่ ไปใช้ทำอะไรบ้าง 

นอกจากนี้เคยสังเกตหรือไม่ว่า เวลาเราเข้าเว็บไซต์ขายของออนไลน์เว็บใดเว็บหนึ่ง แม้เราจะแค่เข้าไปดูสินค้าเฉยๆ หลังจากนั้นเมื่อเรากลับมาใช้ Facebook ก็จะเจอสินค้าประเภทเดียวกันหลอกหลอนอยู่บนหน้า News Feed เต็มไปหมด แม้เราจะไม่เต็มใจก็ตาม

หรือจะเป็นการเข้าถึงเว็บไซต์หลายๆ แห่ง ที่มักจะขออนุญาตเก็บคุกกี้ (Cookie) เพื่อบันทึกข้อมูลการใช้งานไว้ที่เบราว์เซอร์ เช่น เมื่อเข้า Facebook แล้ว login เพียงครั้งเดียว เมื่อเข้าใช้ซ้ำก็จะไม่ต้องใส่รหัสผ่านอีก เป็นต้น อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วอาจทำให้หลายๆ คนหวั่นใจไม่มากก็น้อยว่า ข้อมูลส่วนตัวที่เรายินดีให้ไปหรือการ login เข้าใช้บริการออนไลน์ต่างๆ จะย้อนกลับมาสร้างปัญหาให้เราในอนาคตหรือไม่

ข้อดี ข้อเสียของการแลกข้อมูลส่วนตัว

การยินยอมเปิดเผยข้อมูลาส่วนตัวเปรียบเสมือนดาบสองคมที่ให้ทั้งคุณและโทษ ในกรณีที่เรายินยอมมอบข้อมูลส่วนตัวให้กับผู้ให้บริการใด ๆ ก็ตาม ประโยชน์ที่เราจะได้รับมักเป็นในรูปแบบของสิทธิและบริการต่าง ๆ ที่ตรงกับความสนใจ สามารถอำนวยความสะดวกให้กับเราได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ในทางกลับกันหากข้อมูลส่วนตัวของเราหลุดออกมาสู่สาธารณะ อาจจะด้วยความผิดพลาดของระบบจัดเก็บข้อมูล, การถูกแฮก หรือพนักงานในบริษัทแอบนำข้อมูลไปขาย  ทั้งหมดย่อมนำมาซึ่งอันตราย โดยเฉพาะเมื่อตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ ข้อมูลส่วนตัวของเราอาจถูกนำไปหาผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น ทำธุรกรรมการเงิน , สวมรอยเป็นตัวเราในโซเชียลมีเดีย เพื่อหลอกยืมเงินเพื่อนหรือคนรู้จัก เป็นต้น

Credit: ncsc.gov.uk

ดูแลข้อมูลส่วนตัวของเราได้อย่างไร

ยิ่งเราเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์มากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่ข้อมูลของเราจะถูกนำไปใช้มากยิ่งขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นข้อมูลส่วนตัวเราสามารถป้องกันและดูแลได้เอง ดังนี้

  1. ตั้งรหัสผ่านในทุกอุปกรณ์ที่เราใช้เข้าถึงโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์
  2. ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายาก
  3. เปิดใช้ระบบ login แบบสองชั้นในอีเมล ซึ่งวิธีนี้หากเราต้องการเข้าอีเมลในอุปกรณ์เครื่องใหม่ จะต้องได้รับการยืนยันจากรหัส OTP ที่ส่งเข้ามายังสมาร์ทโฟนก่อน ถึงจะสามารถใช้งานได้ โดยวิธีนี้มีให้ใช้มาระยะหนึ่งแล้วกับบริการต่าง ๆ อาทิ Facebook, Instagram, Twitter,  Gmail, Outllook เป็นต้น
  4. ก่อนสมัครสมาชิกบริการออนไลน์ใดๆ ควรอ่านและทำความเข้าใจกับนโยบายการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ให้บริการเสียก่อน แม้จะยาวหน่อย ก็เพื่อให้รู้ว่าข้อมูลส่วนตัวของเราจะถูกนำไปใช้อะไรบ้าง
  5. ใช้โซเชียลมีเดียให้เป็น ไม่ควรแชร์เบอร์โทรศัพท์, ที่อยู่, เลขบัญชีธนาคาร ลงโซเชียลมีเดีย ถ้าต้องการส่งข้อมูลเหล่านี้ควรส่งผ่าน Inbox ส่วนตัว หรือ SMS ดีกว่า

ความเป็นส่วนตัวที่เราหยิบยกมาเล่าในวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงผู้ให้บริการออนไลน์ต่าง ๆ ให้ตระหนักต่อการใช้และจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ขณะเดียวกันในฐานะผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเราๆ คงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงจากโลกออนไลน์ ฉะนั้นหน้าที่ของเราควรรู้เท่าทันก่อนจะ login เข้าเว็บไซต์, สมัครสมาชิกบริการออนไลน์ รวมไปถึงการแชร์สิ่งต่าง ๆ ลงโซเชียลมีเดียที่หลายคนอาจเผลอคิดไปเองว่า นี่คือพื้นที่ของฉัน ฉันจะโพสต์ จะแชร์อะไรก็ได้ แต่หารู้ไม่ว่ายิ่งแชร์ ยิ่งโพสต์ ยิ่งเช็กอิน เราไม่มีทางรู้เลยว่านอกจากเพื่อนและครอบครัวของเรา จะมีใครอีกบ้างที่แอบส่องเราอยู่

แสดงความเห็น