Grab อาจหนาว เพราะ Go-Jek มาแล้ว!
ข่าวใหญ่เมื่อเดือนเมษา ที่ทำเอาชาวกรุงหลายคนต้องปรับตัวกันยกใหญ่ หลัง Uber บริการเรียกรถสัญชาติอเมริกาประกาศยอมถอยทัพจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการควบรวมกิจการในภูมิภาคนี้กับ Grab รวมร่างเป็น “Gruber” ทำให้พวกเราทั้งหลายที่เคยชินกับ Uber ต้องหันไปใช้บริการเรียกรถ On Demand อื่นๆ แทน
มีคนกังวลว่า เมื่อเหลือยักษ์ใหญ่เพียงแค่เจ้าเดียว จะเกิดการผูกขาดของตลาดหรือเปล่า อนาคตทิศทางบริการเรียกรถที่นับวันจะยิ่งโตขึ้นๆ และมีผู้ใช้งานมากขึ้นจะเป็นอย่างไร?
โลกสตาร์ตอัปเขาไม่ปล่อยให้เรากังวลนานค่ะ.. แทบจะทันทีที่ Uber บ๊ายบายไป บริการเรียกรถ on demand ยักษ์ใหญ่จากประเทศอินโดนีเซียอย่าง “Go-Jek” ก็ประกาศว่าจะเข้ามาบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย)
มวยคู่นี้ถือว่าสูสี เพราะทั้ง Grab และ Go-Jek ล้วนเป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์น (มูลค่าบริษัทมากกว่า 3.5 พันล้านบาทขึ้นไป) และแม้จะเริ่มต้นจากบริการเรียกรถ แต่ปัจจุบันก็พัฒนาไปไกลจนมีบริการครอบคลุมหลายอย่าง เฟื่องเชื่อว่าเราอาจจะรู้จักบริการของ Grab กันมาแล้วบ้าง แต่อาจจะยังไม่ค่อยรู้จักมักจี่ว่าที่เพื่อนบ้านที่กำลังจะมาเยือนบ้านเราอย่าง “Go-Jek” ว่าเป็นยังไง เฟื่องขออนุญาตแนะนำให้รู้จักกันพอสังเขปนะคะ
Go-Jek สร้างรากฐานจากการยึดหัวหาดแทบทั้งหมดของอินโดนีเซีย
ที่เราอาจไม่คุ้นกับ Go-Jek นัก และอาจจินตนาการถึงแสนยานุภาพของเขาไม่ออก เป็นเพราะก่อนหน้านี้ Go-Jek โฟกัสกับความต้องการที่จะเป็นผู้นำตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว ต่างจาก Grab ที่มุ่งขยายพร้อมกันทั้งภูมิภาค และ Uber ที่มุ่งขยายพร้อมกันทั่วโลก
ด้วยความมุ่งมั่นของ นาเดียม มาคาริม (Nadiem Makarim) ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป Go-Jek ที่หวังช่วยยกระดับชีวิตคนเมืองอันแสนรถติดในอินโดนีเซีย และทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการในราคาย่อมเยาโดยไม่ต้องออกจากบ้านหรือออฟฟิศ ผลสุดท้ายการโฟกัสของ Go-Jek นำไปสู่ผลที่น่าพอใจ เพราะผ่านไป 8 ปี ปัจจุบัน Go-Jek ยึดหัวหาด กินส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในอินโดนีเซียเกินกว่าครึ่งของตลาดทั้งหมด และ 95% สำหรับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร เรียกว่าแทบจะผูกขาดตลาดก็คงไม่ผิด
นับเป็นการกุมชัยชนะในฐานะ “ฝ่ายรับ” ในบ้านของตน และวันนี้ Go-Jek พร้อมแล้วที่จะย่างเท้าออกจากบ้าน เปลี่ยนมาเป็น “ฝ่ายรุก” บ้าง นั่นแปลว่าพวกเขาต้องมั่นใจตัวเองพอสมควร และเมื่อแหงนมองรายชื่อนักลงทุนที่อยู่เบื้องหลังแล้ว คงต้องยอมรับว่าพวกเขาก็ไม่ธรรมดาจริงๆ
ทั้งสอง G (Grab และ Go-Jek) แบ็คอัปดีทั้งคู่
ซึ่งอย่างที่เราทราบว่าประชากรของอินโดนีเซียนั้นมีกว่า 250 ล้านคน และใช้อินเตอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 5 ของโลก จึงทำให้ลำพังประเทศเดียว Go-Jek ก็มีผู้ใช้งานเป็นประจำ (Active Users) มหาศาลจนสามารถดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากพญามังกร “จีน” อย่าง Tencent และ JD.com ทั้งยังมีพี่บิ๊กของพญาอินทรี “อเมริกาฯ” อย่าง Google เป็นเสาหลัก ทำให้ปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว (ประมาณ 128,000 ล้านบาท)
ในขณะที่ Grab ก็หยั่งรากฐานแข็งแกร่งด้วยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบ อย่าง Softbank / Honda / Toyota และ Didi จากจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นแกนหลักเช่นเดียวกัน
เนื่องจากหัวใจสำคัญของการยึดครองตลาดประเภทบริการนี้มาให้ได้ คือมีจำนวนผู้ใช้งานมหาศาลเท่านั้น ทำให้โจทย์หินสำหรับคนที่มาทีหลังคือ จะต้องทำทุกอย่างเพื่อแย่งผู้บริโภคที่เคยชินกับอีกบริการนึงมาใช้งานบริการเราให้ได้ และหัวใจสำคัญคือ “เงินอัดฉีด”
อัดเข้าไปค่ะ โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อดึงความสนใจให้ว่าที่ลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการ ใช้งานดี ถูกใจ ใช้กันยาวๆ ต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเป็นมวยคู่อื่นเราคงไม่รู้สึกตื่นเต้นกันมากเท่าไร เพราะเห็นชัดๆ ว่ากระดูกคนละเบอร์กัน แต่พอเป็นสองยักษ์ใหญ่ที่มีแบ็คอัปดีขนาดนี้มาปะทะกัน
ความสนุกจึงอยู่ตรงที่ว่า เมื่อลงเงินไปแล้ว คงไม่มีใครอยากจะขาดทุน คงไม่มีใครยอมใคร และคงจะสรรหาสารพัดกลยุทธ์เพื่อเป็นฝ่ายชนะในสนามนี้ และเมื่อมองจากบริการที่ทั้งคู่มีอยู่ ยิ่งทำให้มวยคู่ยิ่งน่าจับตามองเข้าไปใหญ่
มากกว่าบริการเรียกรถ แต่เป็นบริการสำหรับไลฟ์สไตล์
ในขณะที่ Grab เริ่มต้นมาจาก GrabTaxi และขยายบริการจนมี GrabCar, GrabBike, GrabFood และปัจจุบันมี GrabPay เป็นกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ของตนเอง
Go-Jek เริ่มต้นมาจากบริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์ และขยายบริการไปกว้างเช่นเดียวกัน ทั้ง Go-Ride, Go-Food, Go-Send, Go-Mart, Go-Massage ฯลฯ ครอบคลุมบริการตั้งแต่ เรียกรถแท็กซี่ ส่งอาหาร บริการนวด บริการแม่บ้าน บริการช็อปปิ้งส่งถึงบ้าน ซ่อมรถ จองตั๋ว หาหมอ ฯลฯ (ดูได้ในรูปประกอบค่ะ) และยังมี “Go-Pay” บริการ Payment เป็นของตนเอง ทำงานเป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ โอน/จ่าย/เติมได้หมดค่ะ
น่าสนใจมากๆ ค่ะ ว่า Go-Jek เข้ามาแล้วจะสร้างความเปลี่ยนแปลงกับตลาดได้อย่างไรบ้าง ถ้าได้พันธมิตรที่เข้าใจตลาดเมืองไทยเป็นอย่างดี น่าจะเห็นคู่มวยที่ฝีไม้ลายมือสมน้ำสมเนื้อกัน
ใครจะล้มแชมป์ใครหรือไม่ ไม่รู้ แต่ที่รู้คือผู้บริโภคอย่างเราได้ประโยชน์เต็มๆ ไว้เจอกันสัปดาห์หน้าค่ะ
ABOUT ME
Blog: http://www.faunglada.com
Facebook: http://www.facebook.com/faunglada Youtube: http://www.youtube.com/faunglada
Instagram: http://www.instagram.com/faunglada
Twitter: http://twitter.com/faunglada
LINE: @faunglada