เมื่อโลกร้อนกำลังจะเกินแก้ไข… มนุษย์กำลังได้รับสัญญาณเตือนสุดท้ายจาก Code Red

    “โลกร้อน” ทุกคนคงคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี และไม่ว่าใครคงต้องรู้จักเพราะเป็นเรื่องที่มนุษย์เราพูดถึงกันมาหลายสิบปี แต่หลังจากนี้การพูดถึงเรื่องภาวะโลกร้อนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเรากำลังมีสัญญาณเตือนสุดท้ายที่จะต้องหาวิธีรับมือกับวิกฤตโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

Code Red : สัญญาณเตือนสุดท้าย

      ก่อนหน้านี้ไม่นานคำเตือนที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนได้ถูกประกาศออกมาจาก IPCC เรียกกันว่า “Code Red” เป็นประกาศที่ได้ออกมาเตือนว่าตอนนี้โลกกำลังถึงขีดสีแดงหรือเส้นตายของปัญหานี้แล้ว

    คำเตือนที่เราได้รับมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Climate Change ที่ภายในระยะยเวลา 20-30 ปีนี้ อุณหภูมิโลกของเราจะร้อนขึ้นประมาณ 1.5-2 องศาเซลเซียส ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย แต่การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเพียงเท่านี้กลับถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบใหญ่มาก จนทำให้ทาง IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change-IPCC) หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องออกมาเตือนว่าสิ่งนี้แหละ คือ Code Red

อุณหภูมิแค่ 1.5-2 องศาเซลเซียล ทำไมถึงเป็นวิกฤตใหญ่ของโลก?

    หลายคนอาจจะยังมองไม่เห็นภาพว่า อุณหภูมิเพียง 1.5-2 องศาเซลเซียสจะทำให้เกิดวิกฤตได้ขนาดนั้นเลยเหรอ? 

    การเกิดที่ Climate Change หรือภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงถูกเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ เพราะนี่คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างที่ทั่วโลกกำลังเจอกันอย่างสาหัส ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่แปรปรวนอย่างมาก ฤดูกาลในหลาย ๆ ประเทศกลับเปลี่ยนไปแบบตรงกันข้าม จากที่ร้อนมากกลับกลายเป็นหนาวมาก อย่างที่ซาอุดิอาระเบียและแอลจีเรียกำลังเจอกับหิมะตกในทะเลทรายซาฮารา

ขอบคุณภาพจาก CNN

    หรือแม้แต่ประเทศเยอรมนีที่เจอกับน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 60 ปี และประเทศจีนเองที่เกิดฝนตกหนักที่สุดในรอบพันปี รวมไปถึงฤดูร้อนที่ทุกคนรู้สึกว่ามันช่างร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี จนในบางพื้นที่ก็ร้อนจนแทบจะใช้ชีวิตไม่ได้แล้ว

ขอบคุณภาพจาก DW.com

    สิ่งเหล่านี้เป็นผลที่เกิดจาก Climate Change โดยที่เราไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญอยู่กับมัน และการที่อุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลักไม่กี่สิบปีนี้ อาจตามมาด้วยภัยพิบัติที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเดาได้เลยว่าจะรับมือกันได้ดีพอหรือไม่

“เพราะ Climate Change กำลังเป็นวิกฤติใหญ่เกินกว่ามนุษย์จะจินตนาได้”

    จากการคาดการณ์ ผลของอุณหภูมิที่เพิ่มเพียงแค่ 1.5-2 องศาเซลเซียส อาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าเกือบ 3 เมตร ซึ่งอาจจะสูงมากพอที่ทำให้หลายพื้นที่ในโลกจมหายไป และถ้ามนุษย์ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเพื่อหยุดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นไปกว่านี้ได้ เราอาจจะได้เห็นระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้อีกเป็น 10 เมตร หากถึงตอนนั้นแล้ว แน่นอนว่าชีวิตนี้เราคงได้เห็นพื้นที่ราบลุ่มอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลจมหายลงไปแน่นอน

    แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะถ้าโลกร้อนขึ้นเป็นไปไม่ได้ที่คลื่นความร้อนจะไม่สูงขึ้นตาม อนาคตหลายพื้นที่บนโลกอาจเจอกับคลื่นความร้อนที่สูงขึ้นจนทำให้มนุษย์ไม่สามารถออกใช้ชีวิตกลางแจ้งได้ รวมไปถึงระบบนิเวศที่กำลังจะเปลี่ยนไป ทั้งสัตว์ป่า ฝนตกหนัก ความแห้งแล้ง การขาดแคลนอาหาร ที่จะกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจด้วยแน่นอน

จะทำอย่างไรถ้าการแก้ปัญหาแบบเดิม กำลังจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป

    สำหรับวิกฤตใหญ่ครั้งนี้ ต้องยอมรับแล้วว่าการแก้ปัญหาแบบเดิมที่เราคุ้นเคยอย่าง ปลูกต้นไม้, แยกขยะ, ลดพลาสติก, การรีไซเคิลและรียูส กำลังจะเป็นวิธีที่ช่วยวิกฤตโลกร้อนนี้ได้ไม่มากพอแล้ว เพราะ Code Red เป็นสัญญาณเตือนที่ใหญ่เกินกว่าคนตัวเล็ก ๆ ไม่กี่คนจะแก้ได้ ฉะนั้นการแก้ปัญหาของเรื่องนี้จะต้องถูกยกให้เป็นระดับมหาภาคมากขึ้น

    ซึ่งการแก้ปัญหาที่นานาชาติจะทำได้ในตอนนี้คือ Net Zero Emissions หรือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และแทบจะกำลังเป็นนโยบายแบบข้อบังคับของหลายประเทศที่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้กลายเป็นศูนย์ให้ได้ เพื่อที่จะช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นไปมากกว่านี้

ขอบคุณภาพจาก USA TODAY

“แต่การทำ Net Zero อาจสร้างผลกระทบถึงเศรษฐกิจ”

    การแก้ไขปัญหาด้วย Net Zero ถึงจะแก้วิกฤตได้ แต่ก็ส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน เป็นเพราะว่าอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเยอะมากที่สุด ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตจะต้องถูกเปลี่ยนรูปแบบครั้งใหญ่ และอนาคตอาจทำให้มีกฏหรือมาตรฐานทางการค้าออกมาเพิ่มขึ้น อย่างเช่น สินค้าส่งออกที่จะนำเข้าไปขายในตลาดโลกได้ อาจจะต้องมีเครื่องหมายรับรองว่านี่คือสินค้าที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตแบบ Net Zero แล้วเท่านั้น

    ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง แน่นอนว่าประเทศไหนที่ไม่สามารถปรับตัวหรือทำระบบอุตสหากรรมให้เป็นไปตามนโยบายนี้ได้ คงเกิดการเสียเปรียบทางการค้าในตลาดโลก เพราะไม่แน่ว่าอาจมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากสินค้าที่ไม่สามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้

    หรืออย่างประเทศไทยที่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าเป็นหลัก อาจจะต้องคิดให้หนักขึ้น เพราะถ้านโยบาย Net Zero ถูกบังคับใช้จริงได้เร็วขึ้น คงต้องรีบปรับระบบอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ของประเทศให้ทันก่อนที่จะตกขบวนจากตลาดโลก รวมไปถึงการรับมือกับ Climate Change ที่อาจสร้างผลกระทบกับอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศด้วยเช่นกัน

สุดท้ายแล้ว มนุษย์จะรับมือกับ Code Red ได้มากแค่ไหน?

    จากทั้งหมดที่เราพูดคุยกันมา วิกฤตใหญ่ครั้งนี้ก็ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ว่ามนุษย์จะรับมือได้ไหวเท่าไหน เพราะถึงแม้จะมีวิธีที่ช่วยคงอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงขึ้นได้ แต่การปล่อยคาร์บอนต้องเหลือศูนย์หรือเรียกว่าต้องไม่มีการปล่อยออกมาเลย ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นก็แทบจะยังมองไม่เห็น

    ส่วนการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีวิธีการรับมือได้อย่างไร เพราะยังไงแล้วภายใน 20-30 ปีนี้ อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียสแบบเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการทำให้อุณหภูมิไม่สูงขึ้นไปมากกว่าที่ประเมินไว้ เพราะถ้าหากยังช้าและไม่เคลื่อนไหวกับเรื่องนี้มากพอ อุณหภูมิโลกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสก็เป็นได้ 

    เรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนในตอนนี้กำลังใหญ่เกินกว่าแค่เรื่องอากาศร้อนขึ้น น้้ำแข็งละลายแบบที่เราเข้าใจกันมาตลอด อนาคตชีวิตของมนุษย์จะเปลี่ยนไปแค่ไหน ยังไงก็ต้องมารอติดตามและปรับตัวกับโลกใบนี้ไปด้วยกันค่ะ

ขอขอบคุณเครื่องมือจาก Zocial Eye

แสดงความเห็น