อนาคตไทยจะกลายเป็นประเทศพลังงานสะอาด 100% ได้มากแค่ไหน?

    ถ้าพูดถึงพลังงานสะอาด ภาพที่หลายคนนึกได้คงเป็นแสงอาทิตย์หรือไม่ก็ลม ที่มาพร้อมกับข้อมูลความรู้หนึ่งว่า พลังงานสะอาดเป็นแหล่งพลังงานที่ดี ควรเอามาช่วยสร้างพลังงานอื่น แต่ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งจากคำว่า ควร จะกลายเป็นคำว่า ต้อง เพราะตอนนี้พลังงานสะอาดกลายเป็นทางรอดหลักในการพลิกวิกฤตปัญหาภาวะโลกร้อนไปเสียแล้ว

    ตอนนี้การใช้พลังงานสะอาดแทบจะกลายเป็นนโยบายหลักในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนของหลายประเทศทั่วโลก ที่ต่างให้ความสำคัญและเร่งมือกับสิ่งนี้อย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า แล้วประเทศไทยล่ะ? ในเมื่อก็เจอกับปัญหานี้เหมือนกัน เราได้มีนโยบายหรือแผนการปรับมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดปัญหานี้บ้างหรือเปล่า?

ไทยมีนโยบายการใช้พลังงานสะอาดบ้างไหม?

    จากข้อมูลที่ได้ศึกษามา ตอนนี้ประเทศเราเองก็ได้เริ่มมีนโยบายเรื่องการใช้พลังงานสะอาดเหมือนกับประเทศอื่น แต่นโยบายเกิดแล้ว การใช้จริงล่ะ..เกิดขึ้นบ้างไหม? และความเป็นไปได้ที่จะได้ใช้พลังงานสะอาดแบบ 100% มีมากน้อยแค่ไหนกัน?

    ซึ่งตอนนี้ นโยบายที่สามารถจับต้องได้แล้ว คือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยใช้ “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด” หรือ “Hydro Floating Solar Hybrid”

    เป็นโครงการนำร่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้ลองนำพลังงานหมุนเวียนมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งวิธีการในการผลิตพลังงานไฟฟ้าของโครงการนี้ คือ การพัฒนาใช้แผงโซลาร์เซลล์ ที่ไม่ได้เป็นการติดตั้งอยู่บนพื้นดินหรือหลังคา แต่เป็นการติดตั้งโดยการนำไปลอยไว้บนผิวน้ำในเขื่อนของกฟผ.

    เทคโนโลยี Hydro Floating Solar Hybrid นี้ เป็นระบบผลิตไฟฟ้าโดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำที่เรามีอยู่แล้วมาทำงานร่วมกัน และแก้ปัญหาเรื่องความไม่แน่นองของพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นเหมือนอุปสรรคใหญ่อันหนึ่งในการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยวิธีนี้

    เพราะแสงอาทิตย์ไม่ได้มีอยู่ให้เราได้กักเก็บตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งตัวระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดจึงมีการจัดการผลิตไฟฟ้าตามสภาพอากาศ เช่น ช่วงกลางวันที่มีแดดเพียงพอ แผงโซลาร์เซลล์จะทำงานเป็นหลัก แต่ถ้าหากแสงแดดไม่เพียงพอ ระบบจะสั่งการให้ใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้าแทน

    ถือว่าเป็นโครงการที่ทำออกมาได้ดีตรงที่เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ไม่ไปใช้พื้นที่การเกษตรหรือประมงของชุมชนเพื่อวางแผงโซลาร์เซลล์ รวมไปถึงการก่อสร้างเขื่อนเพิ่มเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด

    โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid ปัจจุบันยังเป็นโครงการนำร่องที่สร้างขึ้นบนเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และกำลังจะมีการจ่ายไฟฟ้าให้ได้ใช้จริงกันในเดือนตุลาคมนี้แล้ว

    ส่วนตอนนี้ก็ได้มีแผนการสร้างโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดเพิ่มขึ้นอีก 9 เขื่อนของกฟผ. เอง ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,725 เมกะวัตต์ และถึงแม้ว่าการใช้โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดจะช่วยเพิ่มการผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดกับลดการซื้อไฟฟ้าจากที่อื่นได้ แต่ยังคงต้องใช้วิธีผลิตจากพลังานหมุนเวียนแบบอื่น ๆ รวมไปถึงจากฟอสซิลควบคู่กันไปก่อน เพราะประเทศไทยเองก็ใช้ไฟฟ้ามากกว่าวันละสองหมื่นเมกะวัตต์เลย

ความเป็นไปได้ที่ไทยจะได้ใช้พลังงานสะอาดแบบ 100%

    การใช้พลังงานสะอาดแบบ 100% อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เพราะจากการพูดคุยใน Podcast ของ EGAT ก็ได้มีการพูดถึงสัดส่วนการใช้พลังงานของประเทศไทย ซึ่งในตอนนี้การใช้พลังงานหมุนเวียนของบ้านเรายังมีไม่ถึง 10%

    และถึงแม้ว่าตอนนี้กำลังจะผลักดันให้มีการใช้ให้ได้ถึง 30% แล้ว แต่การที่จะสามารถใช้พลังงานสะอาดได้ 100% ยังคงต้องใช้เวลาในการคิดหรือพัฒนากันอีกสักพักใหญ่ เพราะการเปลี่ยนพลังงานแบบนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนระบบที่อยู่ในสเกลที่ใหญ่มากเหมือนกัน

นอกจากเรื่องการผลิตแล้ว มีการผลักดันเรื่องการใช้พลังงานสะอาดบ้างไหม?

    ถ้าพูดถึงนโยบายการผลักดันเรื่องการใช้พลังงานสะอาดแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การส่งเสริมให้ทุกคนได้หันมาเริ่มใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ EV เพิ่มขึ้น

    โดยเป็นการเน้นความสำคัญไปที่การเพิ่มจำนวนของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT ตามสถานที่ต่าง ๆ ให้มากขึ้น อย่างเช่น ลานจอดรถห้างสรรพสินค้า, ปั๊มน้ำมัน PT และโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างความสะดวกให้กับคนในเมือง, คนเดินทางข้ามจังหวัด หรือแม้แต่รถขนส่ง อย่างรถบรรทุกหรือ Food Delivery ที่กำลังหรือจะหันมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า EV 

    และในมุมอื่นอย่างการเก็บภาษีรถยนต์ EV ที่ถูกกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน หรือการผลักดันการผลิตให้กับฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ ถ้าทั้งหมดนี้สามารถทำได้จริง การมีสถานีชาร์จที่เยอะขึ้นและได้ราคาถูกลง ยังไงแล้วการใช้พลังงานสะอาดก็คงเพิ่มขึ้นตาม ตลาดการซื้อขายก็คงขยายตัว เพราะผู้คนส่วนใหญ่รอใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันอยู่แล้ว

นโยบายอื่นที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นล่ะ มีบ้างหรือเปล่า?

    ในส่วนของนโยบายอื่นอย่างเรื่องการติดแผง Solar Cell ใช้เองที่คนกำลังเริ่มสนใจเยอะมากขึ้น ในตอนนี้เองยังเป็นการสนับสนุนและผลักดันในสเกลใหญ่ อย่างโรงงานอุตสาหกรรม, โรงแรม, ตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอยู่ก่อน

    เพราะตามจริงแล้วราคาของการติดตั้ง Solar Cell ยังค่อนข้างมีราคาสูงเกินที่คนส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ เพราะนอกเหนือจากการมีแผง Solar Cell แล้ว ยังต้องมีอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

    และประเด็นที่สำคัญไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของราคาในการติดตั้งโซลาร์เซลล์เท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย อย่างเช่น หลังคาบ้านที่ต้องสามารถรองรับการติดแผงโซลาร์เซลล์ได้, สภาพแวดล้อมของบ้านที่สามารถรับแสงได้เต็ม ๆ โดยไม่มีเงามาบัง หรือแม้แต่ช่วงเวลาในการใช้ไฟของแต่ละบ้านก็มีส่วนเช่นกัน

    ยังไงแล้วถ้าประชาชนได้รับข้อมูลเหล่านี้เพิ่มขึ้นและอนาคตโซลาร์เซลล์มีราคาที่ถูกลง อาจจะทำให้คนทั่วไปอย่างเราสามารถเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดแบบนี้ได้มากขึ้นเช่นกัน

    ส่วนในเรื่องที่ของกระแสข้อมูลที่คนทั่วไปสามารถผลิตไฟฟ้าจาก Solar Cell ในบ้านและเหลือพอไปขายคืนให้กับกฟน. หรือ กฟภ. ได้ เป็นเรื่องที่ต้องรอติดตามต่อไปในอนาคต เพราะตอนนี้ยังไม่มีแนวทางที่แน่นอนออกมาให้เห็นแบบชัดเจน และราคาในการรับซื้อยังไม่ได้อยู่ในจุดคุ้มทุนพอที่เราจะลงทุนกับตรงนี้โดยเฉพาะ

แล้วทิศทางเรื่องพลังงานสะอาดของไทยจะเป็นอย่างไรต่อ?

    ถ้ามองจากประเด็นที่เราพูดคุยกันมา รวมไปถึงภาพรวมอื่น ๆ ที่มองเห็นแล้ว ยังมีอีกหลายส่วนที่ประเทศไทยสามารถยกขึ้นมาพัฒนาหรือทำต่อได้ อย่างพลังงานจากขยะและชีวมวลก็เป็นอีกเรื่องที่น่าผลักดัน รวมไปถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนแบบอื่น ๆ ที่กำลังมีแผนที่จะศึกษาเพิ่ม

    คงต้องทยอยพัฒนาและเพิ่มสเกลของเรื่องนี้ต่อไป เพราะหลาย ๆ ประเทศก็ทยอยสร้างและทยอยทำเช่นกัน แต่ยังไงแล้วคงต้องมารอติดตามดูกันต่อไป ว่าอนาคตพลังงานสะอาดจะกลายเป็นพลังงานหลักได้มากน้อยแค่ไหน และวิกฤตภาวะโลกร้อนจะถูกแก้ไขได้จริงหรือเปล่า

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

แสดงความเห็น