Face Recognition คืออะไร? ดูทันสมัย แต่ปลอดภัยรึเปล่า?

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เราได้ยินชื่อบ่อย ๆ คือ Face Recognition หรือระบบจดจำใบหน้า ที่เราสัมผัสกันง่ายที่สุด คือ สมาร์ทโฟนมีทั้งใน iOS และ Android แทบจะกลายเป็นฟีเจอร์ขั้นพื้นฐานไปแล้ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ยืนยันตัวตน ทำให้ผู้ใช้ได้รับสะดวกสบายและเพิ่มความมั่นใจถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว แต่นอกจากสมาร์ทโฟนแล้ว Face Recognition ยังถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลาย ๆ วงการด้วย

Face Recognition คืออะไร?

Face Recognition เป็นกระบวนการนำภาพใบหน้าที่ตรวจจับ มาวิเคราะห์และประมวลผลด้วยเทคโนโลยี AI ( Artificial Intelligence ) พร้อมเปรียบเทียบลักษณะใบหน้าจากฐานข้อมูล เพื่อตรวจสอบว่าภาพใบหน้าที่ตรวจจับได้ตรงกับบุคคลใด

Credit: www.shutterstock.com

ประโยชน์ของ Face Recognition 

  • เปิดบัญชีธนาคาร

ยกตัวอย่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศใช้ Facial Recognition e-KYC สำหรับเปิดบัญชีที่สาขา เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ให้ความปลอดภัยในการยืนยันตัวตนของลูกค้า ลดความเสี่ยงและลดข้อผิดพลาดในการพิสูจน์ตัวตน ช่วยป้องกันมิจฉาชีพสวมรอยเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรมการเงิน

นอกจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังมีอีกหลายธนาคารในประเทศไทยที่เตรียมนำระบบ Facial Recognition มาใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าในลักษณะเดียวกัน อาทิ ไทยพาณิชย์, กสิกรไทย เป็นต้น

  • แท็กชื่อเพื่อนใน Facebook อัตโนมัติ

คนใช้ Facebook คงคุ้นเคยกันดีกับการแท็กชื่อเพื่อนให้โดยอัตโนมัติ ทันทีที่โพสต์ภาพเรากับเพื่อน ๆ โดยไม่ต้องพิมพ์ค้นหาชื่อเพื่อนให้เสียเวลา เป็นการประยุกต์ใช้ระบบ Face Recognition เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการแชร์เรื่องราวระหว่างเรากับเพื่อน

  • ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ แค่หยิบแล้วเดินออกได้เลย

ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven สาขา True Digital Park เป็นร้านต้นแบบแห่งแรกที่ทดลองใช้ระบบ Face Recognition สำหรับสแกนใบหน้าลูกค้าที่เป็นสมาชิก All Member ทำให้ทุกครั้งที่ลูกค้ามาใช้บริการเมื่อซื้อสินค้าและจ่ายเงิน แค่หยิบสินค้าก็สามารถเดินออกจากร้านได้เลย โดยระบบจะตัดเงินผ่านบัตร All Member เองอัตโนมัติ ไม่ต้องอาศัยพนักงานแคชเชียร์

สำหรับประเทศไทยกับการใช้ระบบ Face Recognition ในธุรกิจและบริการต่าง ๆ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่หากมองในต่างประเทศ ระบบ Face Recognition ได้ถูกนำไปใช้ในหลายธุรกิจ  เช่น Alipay แอปชำระเงินบนสมาร์ทโฟนของจีน ที่ใช้ระบบ Face Recognition มาใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการ เรียกว่า Smile to Pay สแกนใบหน้าพร้อมรอยยิ้ม โดยเริ่มให้บริการแล้วที่ K Pro ร้านอาหารเพื่อสุขภาพในเครือ KFC เมืองหางโจว

อีกหนึ่งตัวอย่างหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย เริ่มหันมาใช้ระบบ Face Recognition ช่วยค้นหาและจับกุมผู้ร้าย นำร่องที่เกาะปีนังเมื่อต้นปีนี้ เป็นการใช้กล้องวงจรปิดบนเกาะปีนังที่มีอยู่ 767 ตัว รวมกับระบบ Face Recognition และ AI ที่พัฒนาโดย IBM

Credit: www.shutterstock.com

ทันสมัย แต่ละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือเปล่า

แม้ระบบสแกนใบหน้า Face Recognition จะให้ความทันสมัยและสะดวกสบาย แต่ในทางกลับกันก็เกิดความกังวลว่าการใช้ระบบนี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ ข้อมูลลักษณะใบหน้าของแต่ละคนในฐานข้อมูลได้รับอนุญาตจากเจ้าของตัวจริงแล้วหรือยัง และเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เรายินดีเปิดเผยจะไม่ถูกนำไปใช้อย่างอื่นนอกเหนือจากที่เราอนุญาต

ซึ่งตัวอย่างในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมืองแรกที่แสดงความกังวลต่อระบบ Face Recognition ถึงขั้นออกกฎหมาย ห้ามไม่ให้ตำรวจและหน่วยงานของรัฐใช้ระบบดังกล่าว เพื่อป้องกันการแทรกแซงหรือติดตามพฤติกรรมของพลเมือง ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าระบบ Face Recognition ละเมิดความเป็นส่วนตัวของเราจริงหรือไม่ รวมถึงการันตีความปลอดภัยได้ 100% หรือเปล่า

แต่อย่างหนึ่งที่เราควรยอมรับก่อนว่า หัวใจสำคัญของอินเทอร์เน็ต คือ สามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของเราเอาไว้ได้ รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ หากต้องการพัฒนาธุรกรรมออนไลน์หรือบริการใด ๆ ก็ตามบนอินเทอร์เน็ตก็สามารถเก็บข้อมูลของเราไว้ด้วยเช่นกัน

เมื่อรู้แบบนี้ เราจำเป็นต้องกลัวจนถึงขั้นต้องลบทุกอย่างที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเลยหรือเปล่า ? คำตอบมีอยู่ 2 เรื่องครับที่ทำให้เราใช้งานได้อย่างสบายใจ คือ เราต้องถามตัวเองก่อนว่า เชื่อใจระบบ เชื่อใจนักพัฒนาบริการออนไลน์ต่าง ๆ หรือไม่ ส่วนอีกประเด็น คือ สิ่งที่เราได้รับประโยชน์กลับมา ให้ความคุ้มค่ากับการแลกข้อมูลส่วนตัวของเราไปหรือไม่

ทั้งนี้ Face Recognition หรือระบบจดจำใบหน้ากำลังถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ใกล้ตัวเราที่สุด คือ สมาร์ทโฟนและธนาคาร พร้อมเตรียมขยายต่อไปในทุกวงการในอนาคตอันใกล้ อาทิ ร้านอาหาร, ระบบการจ่ายเงิน, สนามบิน, การจราจร เป็นต้น ซึ่งเราในฐานะผู้ใช้ก็หวังว่าระบบนี้จะสามารถอำนวยความสะดวก รวดเร็วให้กับเราในการใช้บริการต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย และยากต่อการสวมรอยของมิจฉาชีพมากยิ่งขึ้น

แสดงความเห็น