Telemedicine คืออะไร ดียังไง?

เคยไหม? ไปโรงพยาบาล 7 โมง กว่าจะได้หาหมอก็ปาไปเที่ยงจ้ะ

เคยไหม? ป่วยนิดหน่อย เลยคิดว่าไม่ต้องหาหมอ สุดท้ายตัดสินใจซื้อยาเอง สรุปกินผิดวิธี ไตเกือบพัง

เคยไหม? ไม่กล้าถามใครเรื่องเพศศึกษา เลยหาอ่านในเน็ตฯ สุดท้ายไม่รู้ว่าเข้าใจถูกหรือผิด

หรือเคยไหม? ที่อยากจะแค่คุยกับจิตแพทย์สักคน เพราะซึมเศร้า คุยกับพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ จะไปโรง’บาล ก็ไม่กล้า เพราะกลัวคนรอบข้างจะคิดว่าเป็นบ้า

และอีกนานาเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญ…

Credit: www.scnsoft.com

ปัญหาด้านบนจะหมดไป ถ้าเราหันมาเปิดใจ ทำความรู้จัก และใช้บริการการแพทย์แบบ Telemedicine ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้คำจำกัดความว่าเป็น “การแพทย์ทางไกล” โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่าง ‘คนไข้’ กับ ‘หมอ’ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่อการวินิจการรักษาและป้องกันโรค ซึ่งบอนเน่อยากจะจำกัดความ ให้เพื่อนๆเข้าใจง่ายว่ามันก็คือ ‘Virtual Hospital’ หรือโรงพยาบาลเสมือน นั่นเอง

Credit: www.aluance.digital

เวลานี้ โรงพยาบาลในประเทศไทยก็เริ่มปรับตัวกันบ้างแล้วแหละ เริ่มจากศิริราช กับโครงการ SITEL (Siriraj Center of Telemedicine) ที่ใช้ Telemedicine มาช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว แต่ไม่สะดวกเดินทางมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการหรือรับคำแนะนำบ่อย ๆ เพราะอยู่ไกล ให้ได้รับคำปรึกษาหลังการผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง ผ่านทาง Video-Tele Conference คืออยู่ต่างจังหวัด อยู่ต่างประเทศก็คุยกับหมอได้

Credit: www.doctorraksa.com

ถัดมาที่ธุรกิจ Startup อย่างแอปฯ Doctor Raksa จากโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ที่รองรับทั้งระบบ iOS และ Androidก็เริ่มมีคนไข้เปิดใจใช้อย่างแพร่หลาย หรือจะสด ๆ ร้อน ๆ ที่ กรมสุขภาพจิต ไปจับมือกับแอปพลิเคชั่น Ooca (อูก้า) แอปฯสตาร์ทอัพจากหน่วยงานภาคเอกชน ที่เล็งเห็นปัญหาสังคมว่า การที่วัยรุ่นติดยา อกหัก ซึมเศร้า รู้สึกโลกไม่เข้าใจ จนอาจนำพาไปสู่การฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องที่รักษาได้นะ แต่มาคุยกันก่อน

Credit: www.ooca.co

หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่คุ้นชิน รู้สึกป่วยแต่ไม่ไปโรงพยาบาล ได้ด้วยเหรอ? งั้นลองนึกภาพตามนะคะ สมมติบอนปวดท้องระหว่างรถติด ซึ่งหนักขนาดจะต้องไปหาหมอหรือไม่ ยังไม่รู้ แต่บอนสามารถหาหมอออนไลน์ผ่านแอปฯ ได้พูดคุยโดยตรง และรับคำวินิจฉัยเบื้องต้นสรุปใน 1 หน้าจอมือถือ และจ่ายเงินง่าย ๆ แบบตัดบัตร เร็วอย่างกับช้อปปิ้งออนไลน์ ในขณะที่รถอาจจะติดอยู่ที่เดิม แต่คือหาหมอเสร็จแล้วอะ!!! คือมันสะดวกขนาดนั้น

ทาง HIDA (สมาพันธ์ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและการแพทย์สหรัฐฯ) ก็ออกมาระบุเช่นกันว่า Telemedicine ได้รับความนิยมมากขึ้นมากๆ เพราะสามารถเข้าถึงหมอได้ง่าย แค่เพียงคลิกเดียว ก็สามารถคุยกับหมอได้เลย

แต่สุดท้าย อยากให้เพื่อนๆลองวัดระดับความซีเรียสของโรคก่อน เช่นให้ความเจ็บระดับ 1 ถึง 10 ว่ารุนแรงแค่ไหน แต่ถ้าเป็นอะไรที่ฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ก็ควรจะไปหาหมอทันที ในขณะที่ Telemedicine จะเหมาะกับโรคที่ใช้คำปรึกษาเยียวยา (Saliva Therapy) ช่วงนี้เริ่มเห็นว่าตลาด Startup ด้าน การแพทย์นั้นโตขึ้นมาก เดี๋ยวคงต้องติดตามกันต่อว่ามีอะไรเคลื่อนไหวในวงการนี้ ยังไงถ้ามีอะไรเจ๋ง ๆ บอนเน่เอามาอัพเดทให้เพื่อนๆได้รู้ก่อนใครแน่นอน

แสดงความเห็น