Measuring Early Product Value By Scott Bales
เป็นอีกหนึ่ง Workshop ดีๆ ที่ทาง dtac accelerate batch 6 เชิญ คุณ Scott. มาจากสิงคโปร์ เพื่อมาสอนและให้คำแนะนำ Startup เรื่อง Measuring Early Product Value เนื้อเรื่องจะมีอะไรสนุกๆ ให้เราไปปรับใช้บ้างมาดูกันค่ะ
เริ่มต้นมาสิ่งที่สำคัญที่คุณ Scott เน้นย้ำก็คือ การหา Pain point และหาความต้องการจริงๆ ของลูกค้าให้เจอก่อนที่เราจะทำการ research หาข้อมูล , วาง concept รูปแบบของธุรกิจ , ทดสอบ , ทดลองแก้ปัญหา , ตัวอย่างที่คุณ Scott ยกขึ้นมาก็คือ Dropbox ว่าทาง บริษัทใช้เวลากว่า 6 เดือนในการพิสูจน์ว่าคนต้องการผลิตภัณฑ์ที่ Dropbox คิดค้นขึ้นมา โดยที่ยังไม่ได้ลงมือทำจริง จนกว่าจะมีคนสนใจลงชื่อถึง 1 ล้านคน ถึงจะค่อยเริ่มทำผลิตภัณฑ์จริงออกมา
คุณ Scott ยังได้แนะนำกฎหลักของ Lean ที่น่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้ได้คือ
Principles of Lean
- เราควรยอมรับว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมาก : ไม่ว่าจะทั้งเราหรือตัวลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย จะไม่มีวันรู้ว่าสุดท้ายแล้ว สินค้าหรือผลิตภัณฑ์จะออกมาเป็นรูปแบบไหน จนกว่าจะได้ลองทดสอบ และปรับปรุงไอเดียที่คิด และทดสอบจนได้มาซึ่งคำตอบนั้นๆ
- ทดสอบอย่างฉลาด : เราจะต้องมีจุดมุ่งหมายในการทดสอบ ไม่ใช่ว่าทดสอบไปเรื่อยๆ
- วัดผลอย่างฉลาด : เราควรวัดผลจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่เอาสมมติฐานที่คิดขึ้นเองมาเกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยง ข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการวัดผล
นอกจากกฎที่ทางคุณ Scott แนะนำแล้ว คุณ Scott ยังแนะนำเทคนิค และเคล็ดลับในการได้ข้อมูลสำคัญๆ ของกลุ่มเป้าหมาย คือ
- ความเงียบ : ในหลายๆ ครั้ง ควรที่จะเว้นช่วงเงียบให้กลุ่มเป้าหมายได้ใช้ความคิด และใช้เวลา
- เอาใจใส่ : เอาใจใส่กลุ่มเป้าหมายในการทำสิ่งต่างๆ รวมถึงวิธีการต่างๆ ในการเก็บข้อมูลด้วย
- ถามด้วยคำถามปลายเปิด : เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตอบคำถาม และให้ข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด
และกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญที่สุด คือกลุ่ม Early adopter หรือกลุ่มที่เปิดรับ เปิดใจลองสิ่งใหม่ๆ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่รับรู้ว่าตัวเองมีปัญหา และพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหา ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีความสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ความต้องการของตลาดค่ะ
ความแตกต่างระหว่างการประสบความสำเร็จและความล้มเหลว
สิ่งที่ทำให้นำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวนั้น คือ
- ความสามารถในการคิด สร้าง วัดผล เรียนรู้ รวมถึงยอมรับในผลและข้อมูลที่ได้รับจากการทดสอบ เพื่อนำมาตัดสินใจว่าจะปรับเปลี่ยนไอเดียใหม่ หรือคงไว้ซึ่งแก่นของไอเดียเดิมและเปลี่ยนแปลงบางส่วนค่ะ
- ความสามารถและความชำนาญของตัวเรา รวมไปถึงคนในทีม ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งเราควรที่จะรู้ว่า มีเรื่องไหนบ้างที่เราเก่ง ที่เราถนัด เรื่องไหนที่เราไม่รู้ สิ่งสำคัญที่คุณ Scott บอกก็คือ เรามีเรื่องไหนที่เราไม่รู้ตัว ว่าเราไม่รู้รึเปล่า เพราะสิ่งที่เราไม่รู้หรือสิ่งที่เราขาด สามารถที่จะเป็นช่องว่างในการนำไปสู่ความสำเร็จของการทำธุรกิจได้
- เราควรที่จะแก้ไขและปรับเปลี่ยนข้อมูลให้อัพเดทอยู่ตลอดเวลา หากมีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่ได้รับมาจากการทดลอง โดยเริ่มต้นจากการคอยอัพเดท Persona เพื่อเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย และสร้างกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนแก้ไข ปัญหา รวมถึงจุดประสงค์และเป้าหมายในการทำธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งการที่จะทำ persona ให้ถูกและชัดเจนนั้น สามารถใช้ Minimum viable experiment ได้
ซึ่ง Minimum viable experiment แบ่งเป็นทั้งหมด 3 ขั้นตอน
- Exploration – ขั้นตอนของการค้นหา ค้นพบ ที่เราจะต้องพยายามหากลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มลูกค้าของเราให้ได้ และทำการพิสูจน์และตรวจสอบกลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้อง
- Pitch – เราจะต้องรู้จำนวนของกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ
- Concierge – ทำความเข้าใจพฤติกรรมและประสบการณ์ของลูกค้าให้ได้ และในการที่จะ test และทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เราจะต้องหาวิธีทดสอบให้ได้ โดยมีวิธีการหลายแบบด้วยกัน ตัวอย่างเช่น การพูดคุยที่ร้านกาแฟ บทบาทสมมุติ หรือ เพจใน facebook เพื่อทดสอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยดูจากค่า engagement มากกว่า จำนวน like
อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ คุณ Scott ฝากไว้ให้ทุกคนก็คือ เราสามารถทดสอบสิ่งที่เราทำขึ้นมาได้ว่าผู้ใช้ต้องการหรือไม่ โดยวิธีง่ายๆ คือเอาผลิตภัณฑ์ หรือถ้าเป็นแอปพลิเคชันก็ให้เอาฟังก์ชันที่เราคิดขึ้นมาหรือรู้สึกสงสัยอยากทดสอบนั้น ออกไปจากระบบ ถ้าหากลูกค้ามีการเรียกร้อง มีพฤติกรรมที่ไม่พอใจ นั่นหมายถึงว่าผลิตภัณฑ์หรือระบบนั้นๆ เป็นที่ต้องการของลูกค้า ควรเอากลับมาให้บริการ หรือปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าลูกค้าไม่ได้พูดอะไรก็สามารถตัดออกได้เลย ซึ่งคุณ Scott แนะนำเพิ่มเติมว่าสำหรับคนที่ทำแอปพลิเคชันควรที่จะมีการทดสอบและทำการลดหรือคอยปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เพื่อดูการตอบสนองของลูกค้าทุกๆ อาทิตย์