เราต่างได้ยินกันมานานว่า Blockchain คือ เทคโนโลยีที่จะมา “Disrupt” หลายๆวงการ
โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงิน แต่เมื่อ Blockchain คือ “การสร้างระบบที่ยากต่อการแฮ็ก” ประโยชน์ที่แท้จริงของมันจึงไม่ใช่แค่ด้านการเงินเท่านั้นนะคะ แต่ยังมีแง่ดีอีกหลายมุมลองมาดูตัวอย่างการนำ Blockchain มาใช้ในเรื่องใกล้ตัวอย่างการเลือกตั้งกันค่ะ
การเลือกตั้งที่ผ่านมามีใครพบเรื่องน่าหงุดหงิดใจตรงไหนกันบ้างไหมคะ ?
ต้องออกจากบ้าน ฝ่ารถติดและแดดร้อนๆไปคูหาเลือกตั้ง…
เข้าคิวรอเลือกตั้งเป็นเวลานาน…
สงสัยว่าเสียงที่โหวตไปนับคะแนนถูกหรือไม่…
ไม่แน่ใจว่าแหล่งข่าวใดน่าเชื่อถือบ้างเรื่องการนับคะแนน…
พระเอกที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ คือ Blockchain นั่นเองค่ะ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยจัดเก็บร้อยเรียงข้อมูลให้เป็นระบบ ต่อกันเป็นบล็อค
ทำให้ยากต่อการแฮ็ค หากต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะต้องได้รับการยินยอม
เป็นฉันทามติโดยคนส่วนใหญ่ (Consensus) ระบบนี้จึงทำให้ข้อมูลมี ความเป็นส่วนตัวแต่ก็สามารถเข้าถึงเพื่อตรวจเช็คได้ (Open Data) ในขณะเดียวกัน
มาดูกันดีกว่าค่ะว่า ประเทศอื่นๆประยุกต์ใช้ Blockchain ในการเลือกตั้งอย่างไรกันบ้าง…
มีประเทศไหนใช้ Blockchain เลือกตั้งแล้วบ้าง
ตัวอย่างการเลือกตั้งโดย Blockchain ที่มีการใช้จริงแล้ว คือ i-Voting ที่ประเทศเอสโตเนีย การเลือกตั้งแบบนี้อำนวยความสะดวกให้เลือกออนไลน์ได้ โดยเปลี่ยนจากการ ยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนธรรมดาสู่การใช้บัตรประชาชนดิจิทัล (Digital ID Card) ซึ่งมีข้อมูลสำหรับทำธุรกรรมออนไลน์เข้ารหัสอยู่ เมื่อโหวตเสร็จ Blockchain จะช่วยจัดเก็บข้อมูลที่โหวตจากบัตรลงคะแนน มีการประทับเวลา และยืนยันหลักฐานการโหวต เมื่อบันทึกข้อมูลแล้ว ผลโหวตจะกระจายออกไปตาม Node ทันที ทำให้การเปลี่ยนแปลงข้อมูลทำได้ยาก ทีนี้ก็มั่นใจได้ว่าผลโหวตที่เลือกแล้ว ไม่มีการแอบเปลี่ยนคะแนนได้แน่นอน ไม่เหมือนการเลือกตั้งแบบหย่อนลงหีบค่ะ
การเลือกตั้งโดยใช้เทคโนโลยีแบบใหม่นี้จึงเป็นระบบที่ไม่รวมข้อมูลการนับคะแนนไว้ที่ “ศูนย์กลาง” (centralized) หรือองค์กรเดียวอีกต่อไป แต่เปลี่ยนมาเป็นการกระจายข้อมูล (decentralized) ตาม Node ของ Blockchain เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและลดโอกาสการเกิด Human Error ความผิดพลาดจากการนับคะแนนโดยเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุด หลายๆประเทศกำลังเริ่มมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งยุคใหม่เช่นกันค่ะ เราเริ่มเห็นเว็บ Online Voting มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น e-Vox (Ethetrum Blockchain-Based Election Platform) ระบบเลือกตั้งของยูเครน หรือ Agora (Blockchain-Based Voting Ecosystem) ที่มีการทดลองใช้แล้ว ที่เซียร์ราลีโอน แอฟริกา แต่ละแพลตฟอร์มมีฟีเจอร์ที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่ล้วนใช้ Blockchain โดยมุ่งหวังให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น
Follow My Vote เป็น Online Voting ด้วย Blockchain อีกระบบ ที่ให้ผู้โหวตสามารถ log in เข้าเว็บไซต์จากบ้านได้ หลังจากโหวตแล้ว ยังสามารถเข้าไปเช็คความถูกต้อง ติดตามผลคะแนนแบบ real time และเปลี่ยนแปลงคะแนนโหวต ของตัวเองภายในเวลาก่อนเดดไลน์ที่กำหนดได้ด้วย ช่วยลดปัญหาความสงสัยเรื่องผลคะแนนโหวตไปได้ ว่าคะแนนที่เราโหวตแล้วไปไหนต่อ ในหลายๆกรณี Blockchain ช่วยให้การเลือกตั้งไปไกลมากกว่าเพิ่มความโปร่งใส ด้วยการการปกป้องสิทธิและเสียงในการเลือกตั้งของประชาชนอีกด้วยค่ะ องค์กร Democracy Earth Foundation มีการทดลองใช้ระบบเลือกตั้งออนไลน์โดยให้ Expat หรือชาวต่างชาติที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศ ผู้ซึ่งไม่มีสิทธิออกเสียงในระบบเลือกตั้งแบบปกติ ได้มีส่วนร่วมในการออกเสียง ประชามติผ่านเว็บ ว่าเห็นด้วยกับสนธิสัญญาสันติภาพหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งนี้จุดให้เกิดกระแส การสนับสนุนให้คนทุกกลุ่ม (Inclusive) เข้าถึงการเลือกตั้งได้ต่อเนื่องเรื่อยมาเลยค่ะ
เมื่อการโหวตสามารถทำได้ผ่านออนไลน์ มีระบบรองรับอย่างปลอดภัยและสะดวกขึ้นทำให้นำไปสู่ “Borderless Community” สังคมที่ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก คนทุกกลุ่มสามารถใช้สิทธิแสดงความเห็นโดยเท่าเทียม และเสียงทุกคนดังเท่ากันอย่างยุติธรรมโดยไม่มีคนกลางมาแทรกแซงในอนาคตแนวโน้มของ Online Voting จะไม่ใช่แค่การโหวตเลือกตั้งผู้นำทางการเมืองเท่านั้นนะคะ แต่จะเป็นการโหวตเพื่อลงเสียงออกความเห็นเกี่ยวกับปัญหาทั้งระดับชุมชน ประเทศ หรือ ระดับโลก (From the most local involving two people to the most global involving all of us) กล่าวได้ว่า แม้เทคโนโลยี Blockchain อาจดูไกลตัว แต่ผลกระทบของมันอาจมีผลใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิดค่ะ เพราะขยายเสียง 1 เสียงที่เรามีต่อปัญหารอบตัวให้ดังขึ้นได้เกิดเป็น “ประชาธิปไตยที่ไม่ต้องเดินทางไกลออกไปโหวตแต่สะท้อนเสียงที่แท้จริงของคนโหวตได้มากขึ้น”
แม้จะมีคนวิจารณ์ระบบเลือกตั้งที่ใช้ Blockchain อยู่บ้าง ว่ายังพบรูรั่วที่ทำให้สามารถโกงได้อยู่ดี แต่ก็มีฝั่งที่เชื่อว่าอย่างน้อยให้ระบบจาก Blockchain ช่วยเก็บข้อมูลคะแนนโหวต ก็ยังน่าไว้ใจกว่าให้มนุษย์นับคะแนนทั้งหมด โลกยุคใหม่ควรตั้งคำถามและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการนับคะแนนมากขึ้นเพื่อให้เสียงของประชาชนทุกคนมีความหมายอย่างแท้จริงหรือเปล่า ?
ดั่งคำกล่าวของ Joseph Stalin ที่ว่า…
“In an election, it’s not who votes that counts, it’s who counts the votes”
สนับสนุนความรู้เทคโนโลยีดีๆโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)