วิธีเอาตัวรอดจากภัยพิบัติในยุค 4.0

Threats VS Technology : Building Resilient Nations and Businesses

เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติถือเป็นสิ่งที่มนุษย์เราแทบจะไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ? เพราะธรรมชาติไม่เคยส่งสัญญาณให้เราระวังตัว … แต่ในทางเดียวกัน ในขณะที่โลกก้าวหน้าขึ้นทุกวัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดี และปลอดภัยมากขึ้น หรือที่คนทั่วไปเรียกมันว่า “เทคโนโลยี”

จุดลงทะเบียนงาน Threats vs Technology Building Resilient Nations & Business ณ สิงคโปร์
Speakers ชาวสิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่เข้าร่วมปริปรายภายในงาน Threats vs Technology

เมื่อสัปดาห์ก่อน … เฟื่องมีโอกาสได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมงานที่สิงคโปร์ เป็นงานที่จัดโดยสำนักข่าวชื่อดังอย่าง “Reuters Plus” เกี่ยวกับการอภิปรายความคิดเห็นของเหล่า Speakers ที่มีชื่อเสียงจากสิงคโปร์ และญี่ปุ่น ในหัวข้อ “Threats vs Technology” หรือแปลเป็นไทยว่า “ภัยพิบัติ vs เทคโนโลยี” ในมุมที่ต่างกันออกไป คิดว่าน่าสนใจดี วันนี้เฟื่องเลยอยากมาแชร์ให้ทุกคนได้รู้ไปพร้อมๆ กันค่ะ

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดในโลก

บรรยากาศระหว่างการอภิปรายในหัวข้อ Threats vs Technology

เพราะด้วยลักษณะของภูมิประเทศที่อยู่ระหว่างทะเล กับมหาสมุทร และตั้งอยู่ระหว่าง 2 แผ่นดินที่มีการเคลื่อนตัวตลอดเวลา โดยภัยทางธรรมชาติที่ญี่ปุ่นต้องพบเจออยู่บ่อยๆ ก็คือ สึนามิ พายุ น้ำท่วมใหญ่ และแผ่นดินไหว

ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องคิดค้น และหาวิธีรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ให้ได้เพื่อความอยู่รอด ซึ่งกระบวนการที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. ปลูกฝัง และพัฒนาความรู้ ความสามารถของประชากรให้รู้เท่าทันภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ผลิตอุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้ในขณะเกิดภัยพิบัติ และติดตั้งเครื่องมือตรวจจับ-แจ้งเตือนภัยพิบัติให้กับประชาชน,
  3. ออกแบบตึก อาคาร บ้านเรือนให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเกิดภัยพิบัติได้

ญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำของโลกในด้านการเตรียมพร้อม และการจัดการกับภาวะฉุกเฉินได้ดี

รายละเอียดเพิ่มเติมของเครื่อง RTi-cast หรือ Real-time Tsunami Inundation and Damage Forecast Technology of RTi-cast

สึนามิเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดกับญี่ปุ่นมากที่สุด เครื่องมือที่เขาใช้ตรวจจับ และแจ้งเตือนการเกิดสึนามิของประเทศญี่ปุ่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีชื่อว่า RTi-Cast หรือ Real-time Tsunami Information Cast เป็นการใช้เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องในการตรวจจับคลื่นสัญญาณการเกิดภัยพิบัติทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติในบริเวณต่างๆ ที่เครื่องรับสัญญาณตรวจจับได้ เครื่อง RTi-Cast นี้ก็จะส่งสัญญาณเตือนไปยังมือถือของประชาชนทันที ทำให้ประชาชนมีเวลาในการอพยพเพื่อเอาตัวรอดได้ทันท่วงที

ญี่ปุ่นใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงภัยพิบัติมาก

เครื่องอาบน้ำเคลื่อนที่ของประเทศญี่ปุ่นขณะเกิดภัยพิบัติ ที่เรียกว่า WOTA Box

ปัจจัย 4 ถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากในระหว่างเกิดภัยพิบัติ เพราะไม่ใช่แค่ทรัพย์สิน หรือข้าวของถูกทำลาย แต่ความสะอาด และความเป็นอยู่ที่ดีก็ถูกทำลายลงไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทางบริษัทในญี่ปุ่นจึงได้คิดค้น และผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้สำหรับการดำรงชีวิตของประชาชนในขณะเกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้นมาด้วย ที่นำมาจัดแสดงและพูดคุยบนเวที คือ ที่อาบน้ำเคลื่อนที่ หรือ WOTA box

ห้องอาบน้ำของตู้อาบน้ำเคลื่อนที่ WOTA Box

เครื่อง WOTA Box เป็นตู้อาบน้ำเคลื่อนที่ ที่ติดตั้งและใช้งานง่าย มีให้เลือกทั้งแบบเต็มรูปแบบ คือมีทั้งที่อาบน้ำ และที่แต่งตัว หรือจะเลือกติดตั้งแค่ที่อาบน้ำ เพื่อประหยัดพื้นที่ก็สามารถทำได้

เครื่อง WOTA Box นีใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยระบบต่างๆ ทำงาน ทั้งการหมุนเวียนน้ำใช้แล้ว บำบัดน้ำเสียให้ได้น้ำสะอาด ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่หลากหลาย และประหยัดพื้นที่ในการใช้งาน เรียกได้ว่า … นอกจากจะได้อาบน้ำที่สะอาดแล้ว ยังมีน้ำสำรองไว้ใช้อย่างพอเพียงในระหว่างเกิดภัยพิบัติอีกด้วย

ตัวกรองน้ำของตู้อาบน้ำเคลื่อนที่ WOTA Box

ถือเป็นเรื่องดีๆ อีกหนึ่งเรื่อง ที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนในความปลอดภัย และทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์เรามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพียงแค่เราต้องตระหนักรู้ และศึกษาวิธีการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุดเท่านั้นเอง

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และสามารถต่อยอดไอเดียให้กับหลายๆ คนที่กำลังมีความคิดที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาประเทศเราให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกันนะคะ

แสดงความเห็น