ช่วงหลายปีมานี้ เพื่อน ๆ คงได้ยินข่าวว่า AI อาจเข้ามาแย่งงานมนุษย์ใช่ไหมคะ หลาย ๆ คนเลยอาจจะกังวลว่า อาชีพที่ตัวเองทำอยู่นั้นเสี่ยงหรือเปล่า เราเลยขอมาแจกแจงให้เห็นภาพมากขึ้นค่ะว่า AI จะเข้ามาแทนที่อาชีพลักษณะไหน และอาชีพอะไรบ้างที่ยังปลอดภัยอยู่
อาชีพที่คุณทำอยู่เสี่ยงโดน AI แย่งงานแค่ไหน ?
Kai Fu Lee ผู้เขียนหนังสือ AI Superpowers ได้แบ่งความเสี่ยงของอาชีพต่าง ๆ ออกเป็น 4 กลุ่มตามกราฟนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ อาชีพมีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่จะต่างกันที่เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยเท่านั้นเองค่ะ
กลุ่มที่ 1 Danger Zone (โซนอันตรายมาก)
คือ กลุ่มอาชีพที่ไม่ต้องใช้มนุษย์สัมพันธ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความละเอียดอ่อน และการวางกลยุทธ์ รวมถึงมีสภาพแวดล้อมการทำงานคงที่ เลยมีความเสี่ยงสูงว่าจะโดน AI แย่งงานค่ะ เช่น พนักงานแคชเชียร์ พนักงานล้างจาน พนักงานปักเย็บเสื้อผ้า คนขับรถบรรทุก และชาวสวน เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 Human Veneer (โซนอันตรายน้อย)
คือ กลุ่มอาชีพที่ใช้มนุษย์สัมพันธ์สูง แต่ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการวางกลยุทธ์ เลยทำให้มีความเสี่ยงว่าอาจโดน AI แย่งงาน เช่น บาร์เทนเดอร์ บาริสต้า พนักงานเสิร์ฟ พ่อครัว (ตอนนี้ 4 อาชีพนี้เริ่มมีหุ่นยนต์มาทำงานแทนแล้วนะคะ แต่หุ่นยนต์คงไม่ได้มาแทนที่คนทำอาชีพนี้ทั้งหมดในเร็ว ๆ นี้) พนักงานต้อนรับ ไกด์นำเที่ยว และคุณครู เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 Slow Creep (โซนค่อนข้างปลอดภัย)
คือ กลุ่มอาชีพที่ไม่เน้นมนุษย์สัมพันธ์ แต่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความคิดสร้างสรรค์ และมีสภาพแวดล้อมการทำงานไม่คงที่ เช่น นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ คอลัมนิสต์ ศิลปิน กราฟิกดีไซน์เนอร์ พนักงานทำความสะอาด พนักงานก่อสร้าง และช่างประปา เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 Safe Zone (โซนปลอดภัย)
คือ กลุ่มอาชีพที่ใช้มนุษย์สัมพันธ์สูง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และต้องอาศัยการวางกลยุทธ์ เช่น ซีอีโอ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้จัดการฝ่าย HR จิตแพทย์ นักออกแบบทรงผม นักกายภาพบำบัด ผู้จัดงานอีเวนต์ ผู้ดูแลคนสูงอายุ นักฝึกสุนัข และคนทำงานเพื่อสังคม เป็นต้น
ทีนี้ลองมาดูกันค่ะว่า ตอนนี้ AI ถูกพัฒนาไปไกลแค่ไหน และเริ่มเข้ามามีบทบาทในอาชีพอะไรแล้วบ้าง
4 อาชีพทักษะสูงที่เริ่มมี AI เข้ามาทำงานแทนแล้ว
-
พนักงานธนาคาร
ตอนนี้ SBI Sumishin ธนาคารออนไลน์อันดับ 1 ของญี่ปุ่นมี AI เข้ามาช่วยปล่อยสินเชื่อแล้วค่ะ จากเมื่อก่อนที่ต้องใช้เวลาหลายวันพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ AI ตัวนี้กลับประเมินข้อมูลได้ทันที โดยคำนวณความเสี่ยงออกมาเป็น 0-100%
ส่วนบริษัท Mastercard ก็นำ AI มาตรวจสอบการโกงในแผนก Decision Intelligence (DI) ซึ่ง AI ตัวนี้จะเรียนรู้ข้อมูลธุรกรรมของลูกค้าในอดีต เพื่อป้องกันการโกงบัตรเครดิตได้แบบเรียลไทม์ ด้วยความแม่นยำที่สูงมาก
-
หมอ / เภสัชกร
บริษัท Buoy Health เริ่มใช้ Chatbot AI มาวินิจฉัยโรคจากอาการของผู้ป่วย และสถาบัน Houston Methodist Research Institute ก็ได้คิดค้น AI มาประเมินความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งมีความแม่นยำถึง 99% และวินิจฉัยได้เร็วกว่าหมอถึง 30 เท่าเลยนะคะ
ส่วนฝั่งเภสัชกรก็เริ่มนำหุ่นยนต์มาจ่ายยาแทนคนแล้ว และหลาย ๆ ที่ก็ใช้ AI มาช่วยคิดค้นสูตรยาใหม่ ๆ ด้วย เช่น บริษัท Pfizer ได้ใช้ IBM Watson หรือระบบประมวลผลขนาดใหญ่มาช่วยจัดระเบียบข้อมูลผู้ป่วยเป็นล้าน ๆ เคส เพื่อคิดค้นยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ประหยัดเวลาวิจัยไปได้หลายปีเลยค่ะ
-
พนักงานขาย
หลายปีมานี้คนหันมาซื้อของทางออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้ตำแหน่งพนักงานขายอาจไม่จำเป็นเท่าแต่ก่อนแล้วค่ะ ที่สำคัญ สมัยนี้ขายเก่งอาจไม่สู้รู้ใจว่าลูกค้าอยากได้อะไร ซึ่ง AI ทำหน้าที่ส่วนนี้ได้ดีมาก โดยนำ Big Data มาประมวลผล แล้วเจาะเป็นรายบุคคลเลยว่า นาย A ชอบสิ่งนี้ มีกำลังซื้อเท่านี้ กำลังอยากได้อะไร หรือแม้กระทั่งว่าต้องใช้สินค้าอะไรในอนาคต
E-commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ก็ใช้ AI มาช่วยแนะนำสินค้าให้ลูกค้าเหมือนกันค่ะ โดย AI จะศึกษาความสนใจของลูกค้าจากประวัติการท่องเว็บ สินค้าที่เคยซื้อ การเขียนรีวิว และปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่ายิ่งเราซื้อของมากเท่าไร AI ก็จะยิ่งรู้ใจเรามากขึ้นเท่านั้น
-
ดีไซเนอร์
แบรนด์ H&M ได้นำ AI เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าจากใบเสร็จร้าน แต้มในบัตรสมาชิก สินค้าที่ลูกค้าเอามาคืน และอื่น ๆ เพื่อประมวลผลออกมาว่าผลิตอะไรถึงขายดี อะไรควรเลิกผลิต ไปจนถึงเทรนด์แฟชั่นเกิดใหม่ ทำให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาขายไม่ดีจนสินค้าล้นสต็อก เพราะตามเทรนด์ใหม่ไม่ทัน รวมถึงไม่รู้ว่าลูกค้าชอบหรือต้องการอะไรค่ะ
นอกจากนี้ สายงานบางอย่างที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ก็ยังหนีไม่พ้นการมาของ AI นะคะ
3 สายงานสร้างสรรค์กับนวัตกรรมจาก AI
-
งานสายโปรดักชัน
ค่าย 20th Century Studios ได้ทดลองใช้ IBM Watson มาตัดต่อ Trailer ภาพยนต์เรื่อง Morgan ซึ่งเป็นหนังสยองขวัญ โดยทางค่ายเทรนให้ AI วิเคราะห์ข้อมูลจากภาพยนตร์แนวเดียวกันกว่า 100 เรื่อง จน AI เข้าใจเสียง ฉาก อารมณ์ โทนสี และลำดับการเล่า ว่าแพทเทิร์นแบบไหนจะทำให้คนรู้สึกกลัวได้ ที่น่าทึ่งคือแม้คนทั่วไปจะใช้เวลาตัดต่อถึง 10 – 30 วัน แต่ AI สามารถตัดต่อเสร็จได้ภายในวันเดียวเท่านั้นค่ะ
-
งานสายดนตรี
ตอนนี้ AI ถูกเทรนให้เรียนรู้เพลงหลายรูปแบบ จนสามารถเลือกคอร์ด จังหวะ โน๊ต เพื่อแต่งทำนองเพลงเองได้แล้วนะคะ ซึ่งบริษัทใหญ่อย่าง Google ก็ได้ทำโปรเจกต์ Magenta ขึ้นมาเพื่อสร้างงานดนตรีและศิลปะจาก AI โดยเฉพาะ ส่วน Sony และ Spotify ก็เริ่มนำ AI มาใช้แต่งเพลงเช่นเดียวกัน แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ศิลปินบางส่วนก็ยังมองว่า AI คงแต่งได้แค่เพลงแบบเดิม ๆ และน่าจะไม่สามารถทำเพลงได้กินใจเท่าฝีมือคนทั่วไปอยู่ดี
-
งานเขียนและงานข่าว
สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง BBC, Forbes, Bloomberg ก็ได้ใช้ AI มาช่วยเขียนข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเงิน และข่าวกีฬาค่ะ เพราะ AI สามารถย่อยข้อมูลดิบที่ยาว และผลิตข่าวออกมาได้ทันที ต่างจากมนุษย์ที่ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ส่วนงานเขียนที่อาศัยภาษาสวย ๆ เอง อย่างบริษัท OpenAI ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยี GPT-3 ขึ้นมาซึ่งใช้ภาษาได้สละสลวยมากจนแยกไม่ออกว่าบทความไหนใช้ AI หรือคนทั่วไปเขียน แต่ถึงยังไงก็ควรมีบรรณาธิการมาตรวจความถูกต้องของข้อมูลอยู่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้มี Fake News ค่ะ
สรุป
ทั้งนี้ทั้งนั้น AI คงไม่สามารถใช้แทนคนในทุกด้าน เพียงแต่เข้ามาช่วยให้คนทำงานอย่างสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้นค่ะ ที่สำคัญ การเข้ามาของ AI ยังเปิดโอกาสให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ด้วยนะคะ เช่น ช่างซ่อมหุ่นยนต์ หรือผู้ตรวจสอบการทำงานของ AI
ส่วนใครที่กังวลว่าจะถูก AI แย่งงานก็อย่าลืมฝึกทักษะมนุษย์สัมพันธ์ ความคิดสร้างสรรค์ และความละเอียดอ่อนไว้ รวมถึงพาตัวเองออกจาก Comfort Zone ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และไม่หยุดพัฒนาตัวเองนะคะ ถ้าทำได้ตามนี้คนเราคงสร้างคุณค่าหลาย ๆ อย่างให้กับโลกนี้ได้ไม่แพ้ AI แน่นอนค่ะ
ขอขอบคุณเครื่องมือจาก : ZOCIAL EYE