ลองจินตนาการดูกันนะครับ วันหนึ่งเราอาจตื่นขึ้นมาแลัวพบว่ามนุษย์บางส่วนในโลกถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะบนท้องถนน ในสำนักงานหรือในบ้านเราก็ตาม ก็คงจะมีคำถามว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเพราะทุกวันนี้คุณ ๆ ก็มีชีวิตร่วมกับหุ่นยนต์หรือ AI อยู่แล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับที่มาที่ไปของ AI ในอีกแบบหนึ่ง เพื่อที่จะทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนโลกในทุกวันนี้
ที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” น่าจะใช้ได้กับทุกวงการจริง ๆ โดยเฉพาะในศิลปะภาพยนตร์เพราะประสบการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจในภาพยนตร์ในอดีต อันเกิดจากจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนบทภาพยนตร์ สิ่งเหล่านั้นก็ได้กลายมาเป็นจริงในปัจจุบันและมีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนได้อย่างมหาศาล
ในปี 2469 ฟริทซ์ แลง นักสร้างภาพยนตร์ชาวออสเตรียได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Metropolis ด้วยทุนมหาศาล Metropolis ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์คลาสสิคที่ดีที่สุดตลอดกาล จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือการปรากฎตัวของหุ่นยนตร์สาว ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในสมัยนั้นและได้กลายเป็นต้นแบบของหนังหุ่นยนต์อีกหลายเรื่องในเวลาต่อมา นี่คือสิ่งที่เรารู้จักกันใน พ.ศ.นี้และเรียกกันว่า A.I. Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์
แล้วเราก็ได้เห็น AI ที่มีเนื้อหนังเป็นคนจริงๆ ในหนังของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่มีชื่อเรื่องตรงๆ ว่า A.I. Artificial Intelligence ในปี 2544 A.I.ในเวอร์ชั่น
สปีลเบิร์กทำให้เราได้เห็นว่าหุ่นยนต์สามารถมีความคิด ความรู้สึก และที่สำคัญคือมี “ความรัก” ได้ด้วย กระทั่งความสัมพันธ์แบบคู่รักก็ทำได้ไม่แพ้มนุษย์ แล้วถ้าวันหนึ่งมีหุ่นยนต์แบบที่ว่าจริง ๆ มนุษย์อย่างเรา คงได้แต่มองตาปริบ ๆ ด้วยใจหวั่นลึก ๆ
“TRANSCENDENCE” หนังของผุู้อำนวยการสร้าง คริสโตเฟอร์ โนแลน ปี 2557 ถ่ายทอดเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มีเป้าหมายในการสร้างเครื่องจักรที่มีความรู้สึกนึกคิดแบบมนุษย์ จนสุดท้ายได้เชื่อมต่อสมองของตนรวมเป็นหนึ่งเดียวกับคอมพิวเตอร์ เป็นคาแรคเตอร์ของ AI ที่มีความเกรี้ยวกราดสมกับชื่อของหนังในภาษาไทย “คอมพ์สมองคนพิฆาตโลก”
ในปีเดียวกัน คริสโตเฟอร์ โนแลน ได้ลงมือกำกับหนังอีกเรื่องคือ “INTERSTELLAR” ในเรื่องนี้โนแลนได้ให้อีกภาพที่อยู่คนละด้านของ A.I. ใน TRANSCENDENCE คือ TARS และ CASE หุ่นยนต์ที่ซื่อสัตย์และช่วยมนุษย์อย่างเต็มอกเต็มใจจนวาระสุดท้าย
ทุกวันนี้ AI กับคนเราอยู่ร่วมกันแบบเนียน ๆ แบบที่บางครั้งเราคาดไม่ถึงอย่างเช่นในโทรศัพท์มือถือเรามีระบบจดจำใบหน้า หรือ Face ID นี่คืออีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ AI เป็นส่วนสำคัญ เรายังมีกล้อง AI มี AI คอยจัดการทรัพยากรให้เราประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ และยังมี AI ช่วยคุณแปลภาษาโดยไม่ต้องมีอินเตอร์เน็ทได้อีกด้วย
ส่วน AI ในรถยนต์มีมานานแล้วในรถยนต์ไร้คนขับ อีกไม่นานเราก็จะคุ้นเคยกับ AI ในตู้เย็น เครื่องซักผ้า ไมรโครเวฟ ในแง่ของคุณภาพชีวิตก็นับว่ามนุษย์เราจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวอยู่เยอะพอสมควร เพราะในวันข้างหน้าซึ่งอาจจะไม่นานเราคงได้อยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ อย่างที่เห็นในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องก็เป็นได้
สิ่งที่เราต้องเตรียมการก็คือการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่แตกต่าง งานอะไรก็ตามที่มีลักษณะของการทำซ้ำ ๆ เหมือน ๆ กัน ในที่สุดจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ การวางแผนการศึกษาของลูกหลานเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงเป็นเรื่อง สำคัญมาก ๆ เรียกว่าจะเรียนอะไรก็อาจจะต้องหลีกทางให้กับ AI ในบางอาชีพ
อาชีพที่ A.I. ทำแทนมนุษย์ได้แล้ว
ที่เราเห็นกันมานานแล้วก็คืองานในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเลกทรอนิกส์ ในงานกลุ่มนี้ AI ที่ควบคุมระบบแขนกลจะถูกพัฒนาให้ทำงานแทนคนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ธุรกิจการเงินในปัจจุบันก็แข่งขันกันในการนำ AI มาใช้จัดการ Big Data เพื่อวิเคราะห์และสร้างบริการให้โดนใจลูกค้าแบบรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ถึงขนาดที่ว่ามีบริการ Robot Trading ช่วยเทรดหุ้นให้กับลูกค้า โดย Bot จะส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นได้ด้วยตัวมันเองทันที เมื่อราคาหุ้น สภาวะตลาดหรือตัวแปรอื่น ๆ เข้าเงื่อนไขที่ลูกค้ากำหนดเอาไว้
ในงาน บัญชี, เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล, พนักงานต้อนรับ, พนักงานขายโฆษณา, เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร, เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ งาน Call Center หลาย ๆ องค์กรก็ใช้ Chatbots แก้ปัญหาให้ลูกค้ากันแล้ว พนักงานเหล่านี้จึงต้องพัฒนาทักษะด้านการบริการที่ AI ยังทำไม่ได้หรือยังไม่เก่ง
อาชีพที่ AI ยังทำแทนมนุษย์ไม่ได้ (ในเร็ววันนี้)
เราเคยเชื่อกันว่าอาชีพที่ AI ทำไม่ได้ คือ งานครีเอทีพ งานแสดง งานพิธีกร น่าจะยังไม่ถูก AI มาทำแทน
แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนได้เปิดตัวผู้ประกาศข่าวหญิง AI คน แรกของโลก สวยเนียน คำพูด สีหน้า เหมือนคนสุด ๆ เธอชื่อ “ซิน เสี่ยว เหมิง” ที่อาศัยรูปลักษณ์และน้ำเสียงของ ซีว์ เหมิง ผู้ประกาศของสำนักข่าวซินหัวที่มีตัวตนอยู่จริง เธอสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมงบนทุกแพลตฟอร์มรายงานข่าว ไม่ว่าจะเป็นเว็ปไซต์ทางการหรือสื่อสังคมออนไลน์ อาชีพพิธีกรในสตูดิโอจึงต้องหาทักษะที่แตกต่างที่ AI ทำไม่ได้ ส่วนพิธีกรนอกสถานที่ก็ถือว่ายังปลอดภัยอีกระยะหนึ่ง เพราะต้นทุนในการใช้ AI ในงานถ่ายทำ Out Door น่าจะยังไม่คุ้มทุน
คำตอบที่ว่าอะไรคือสิ่งที่มนุษย์จะสามารถต่อกรกับ AI ได้ก็มีอยู่ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียทีเดียวเลย นั่นก็คือความสามารถที่โดดเด่นกว่า และฝีมือเฉพาะทางใน งานที่ซับซ้อน เช่น เป็นช่างก็มีความละเอียดลึกซึ้ง ไม่มีใครทำได้เหมือน เป็นผู้จัดการ โรงแรมก็สื่อสารได้หลายภาษา แก้ปัญหาเฉพาะให้กับลูกค้าได้ดีกว่าคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่ AI ไม่น่าจะทำได้คือ Emotional Competent หรือความสามารถในการเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น อาชีพอย่างเช่น “นักจิตบำบัด”
คงไม่ใช่งานที่ AI จะมาทำแทนได้ อย่างน้อยก็ในเวลาอันใกล้นี้
มีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 ตำแหน่งงานทั่วโลกของ AI จะมีมากกว่ามนุษย์ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วก็ยังไม่มีใครให้ตำตอบได้ชัด ๆ ว่างานแบบไหนที่จะถูกทดแทนโดย AI หรือหุ่นยนต์ จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะกังวลล่วงหน้าว่าจะต้องสูญเสียงานไป พูดง่าย ๆ ว่า ณ ปัจจุบันนี้มนุษย์เรายังเก่งกว่า AI อยู่ ที่นี้ก็อยู่ที่ตัวเราเองแล้วละครับ คงต้องหมั่นศึกษาหาทักษะที่ลึกซึ้งแบบที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ และส่งเสริมน้อง ๆ หรือลูกหลานให้ทำงานร่วมกับ AI และควบคุมงานแล้วก็เป็นหัวหน้าของพวกมันให้ได้ซะเลยครับ.