การทำธุรกรรมต่าง ๆ จะสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยขึ้นด้วย Digital ID ไม่ต้องเดินทางไปเปิดบัญชีถึงธนาคารสาขาอีกต่อไป ทำเองออนไลน์ได้ง่าย ๆ ที่บ้าน แถมยังช่วยลดต้นทุนวัสดุและประหยัดเวลาเดินทาง อนาคตอาจไม่ต้องมานั่งถ่ายเอกสารเซ็นสำเนาอีกต่อไปแล้ว!
NDID เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานกำกับดูแล หรือที่เราเรียกกันว่า “RegTech” (Regulatory Technology) เข้ามาปฏิวัติวงการ disrupt ปัญหาจากกระดาษ อุดรอยรั่วที่เป็นความผิดพลาดจากระบบที่ใช้กระดาษให้หมดไป เช่น กรอกชื่อผิด รอส่งเอกสารกันนาน หรือแม้แต่เอกสารเสียหาย อีกทั้งการเปลี่ยนจากระบบกระดาษมาเป็นดิจิทัล ยังช่วยเรื่องความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล ความปลอดภัย และสะดวกรวดเร็วขึ้นด้วย
แต่การใช้ RegTech นั้นก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย เพราะการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
วันนี้เกิดขึ้นจริงแล้วในไทยกับการใช้ RegTech แบบปลอดภัย นั่นก็คือ “NDID”
NDID คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร?
NDID ย่อมาจากคำว่า National Digital ID เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลสำหรับการยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิตอล เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทำให้ประชาชนสามารถพิสูจน์และระบุตัวตนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่
เช่น เราเคยเปิดบัญชีและยืนยันตัวตนกับธนาคาร A แล้ว ต่อมาอยากจะเปิดบัญชีกับธนาคาร B เราก็แค่เข้าแอปพลิเคชั่นของธนาคาร B แล้วกดยินยอมให้ธนาคาร A ส่งข้อมูลตัวตนที่ยืนยันแล้วของเรามาให้ เท่านี้เราก็สามารถเปิดบัญชีกับธนาคาร B ได้ โดยที่ไม่ต้องไปยืนยันตัวตนอีกครั้งให้ซ้ำซ้อน
ซึ่ง NDID ไม่ได้อยู่แค่เรื่องของธุรกรรมการเงินเท่านั้น แต่อนาคตยังจะขยายต่อไปยังธุรกรรมอื่น ๆ ด้วย ทั้งบริการสาธารณสุข โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต รวมถึงด้านการดำเนินคดี การกรอกข้อมูลแบบเดิม ๆ จะหมดไป การถ่ายสำเนาเอกสารซ้ำซ้อน ยุ่งยาก สิ้นเปลืองจะไม่มีแล้ว เพราะทุกคนจะมี Digital ID ที่บันทึกไว้ในระบบเป็นของตัวเอง สมัครครั้งเดียว ใช้ได้ยาว ๆ
NDID มาจากไหน? ใครก่อตั้งและหน่วยงานไหนดูแล?
NDID เป็นหน่วยงานเอกชนที่กำกับโดยรัฐ เกิดจากความร่วมมือของ 2 ภาคส่วน คือ ภาครัฐที่ต้องการเครื่องมือสำหรับการบริการประชาชนที่สะดวกรวดเร็ว รวมถึงอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมการเงินที่ต้องการลดปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพขั้นตอนการยืนยันตัวตนทั้งด้านการสิ้นเปลืองทรัพยากรและด้านความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ NDID ถูกริเริ่มจากภาครัฐจัดตั้งคณะทำงาน Digital ID ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2017 โดยมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ETDA) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ประกอบด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) เป็นแม่งาน และได้จัดตั้งเป็นบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ในเดือนมกราปี 2018 ร่วมกับบริษัท เครดิตบูโร จำกัด โดยมีธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆให้ความร่วมมือพัฒนาโครงการ เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ก่อนที่จะนำมาเปิดใช้ในปัจจุบัน ก็ได้มีการออกกฎหมายมารองรับระบบนี้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 การพิสูจน์และยืนยันตัวตน และได้มีการทดสอบระบบกลุ่มสมาชิกในการเปิดบัญชีออนไลน์รวมถึงจัดงานแสดงความพร้อมไปเมื่อปลายปี 2019 จนในที่สุดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดให้ 6 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มทดสอบการใช้ NDID ในการเปิดบัญชีผ่านทางออนไลน์ แต่ทำในวงจำกัดตามช่วงเวลาและช่องทางของแต่ละธนาคารภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในตอนนี้มีอีกหนึ่งธนาคารให้บริการเพิ่มคือ ธนาคารทหารไทย รวมเป็น 7 ธนาคาร รายละเอียดเงื่อนไขการบริการสามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ของแต่ละธนาคาร
NDID ทำงานอย่างไร? ปลอดภัยหรือเปล่า?
ระบบ NDID ของไทยแตกต่างจากประเทศอื่นตรงที่จะไม่นำข้อมูลของผู้ใช้งานมารวมศูนย์ไว้ที่เดียว แต่มีการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาจัดการกับข้อมูลมหาศาลระดับ Bigdata เป็นเหมือนถนนเชื่อมต่อไปยังองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต้องการการยืนยันตัวตน แล้วทำการแบ่งปันข้อมูลให้กัน โดยที่ไม่มีผู้ใดแม้แต่ผู้ดูแลระบบอย่างบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด สามารถเห็น เก็บหรือควบคุมข้อมูลของผู้ใข้งานได้ จึงลดความเสี่ยงการรั่วไหลของข้อมูล และป้องกันผู้ไม่หวังดีแฮ็คข้อมูลได้ โดยหากจะมีการใช้ข้อมูลการยืนยันตัวตน จะต้องมีการร้องขอเข้ามาในระบบ และจะต้องมีการอนุญาตโดยเจ้าของข้อมูล โดยระยะแรกที่ Blockchain ยังมีขนาดไม่ใหญ่ NDID จะเป็นผู้รองรับความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน แต่หลังจากที่มีข้อมูลมากเพียงพอแล้ว NDID ก็จะปล่อยให้ระบบทำงานไป
สิ่งเหล่านี้ทำให้ NDID ของไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย และจีน
ที่นำข้อมูลรวมศูนย์ไว้ที่จุดเดียว โดยมีความปลอดภัยมากกว่า
มีค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมไหม?
สำหรับผู้ใช้บริการ ฟรี ไม่เสียค่าธรรมเนียม
อยากใช้ NDID ต้องทำอย่างไร?
ตอนนี้ NDID ในประเทศไทยยังรองรับเพียงบริการการเปิดบัญชีใหม่เท่านั้น ซึ่งขั้นตอนง่ายมาก ๆ
เราต้องมีข้อมูลเพียงพอสำหรับสมัคร NDID จากการที่เคยเปิดบัญชีกับธนาคารที่ร่วมโครงการ
- มีการเสียบบัตรประชาชนผ่านเครื่องอ่านบัตรของธนาคารนั้น ๆ แล้ว
- เคยถ่ายรูปยืนยันตัวที่ธนาคารหรือผ่านแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ของธนาคาร
- มีแอปพลิเคชัน Mobile Banking ธนาคารไว้ในสมาร์ทโฟนพร้อมใช้งาน
เท่านี้เราก็สามารถลงทะเบียนใช้งาน NDID ผ่านแอปพลิเคชัน Mobile Banking ได้ทันที
ต่อไปหากเราต้องการเปิดบัญชีกับธนาคารอื่น ๆ ที่เรายังไม่เคยให้ข้อมูล เราก็แค่โหลดแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ของธนาคารนั้น ๆ แล้วสามารถกดลงทะเบียนเปิดบัญชีกับธนาคารใหม่ผ่านทางออนไลน์ โดยมีธนาคารที่เราลงทะเบียน NDID ไว้เป็นผู้ยืนยันตัวตนให้ได้เลย โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ เพียงแค่กรอกข้อมูลและสแกนใบหน้า ไม่ต้องเดินทางไปธนาคารให้เหนื่อย
ส่วนใครที่ยังมีข้อมูลไม่ครบ ยังสมัครไม่ได้ ก็แค่เข้าไปอัพเดทข้อมูลที่ธนาคาร เพียงแค่ครั้งเดียวสามารถใช้ได้ตลอด
NDID เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เกิดระบบใหม่อีกมากมายตามมา เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการทำธุรกรรม ที่สะดวกรวดเร็ว ประหยัดทรัพยากร และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อนาคตการยื่นเอกสารต่าง ๆ เช่น การขอสินเชื่อ อาจสามารถยื่นและทราบผลออนไลน์ อนุมัติได้อย่างรวดเร็ว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย