การระบาดของโรค Covid-19 ตอนนี้ส่งผลกระทบกับหลากหลายธุรกิจทั่วโลก อย่างประเทศไทยของเรา เมื่อมีมาตรการ Social distancing มีการปิดห้างสรรพสินค้า โรงเรียน สถานบันเทิง ร้านอาหารก็ไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ ธุรกิจน้อยใหญ่ก็พากันกระทบไปหมด แต่อยากจะบอกว่า ทุกปัญหามีทางออกเสมอค่ะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูตัวอย่างการปรับตัวเพื่อฝ่าวิกฤติของคนทำธุรกิจไทย เป็นไอเดียให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวและผ่านวิกฤตินี้ไปพร้อมกัน
ทำธุรกิจยุค Covid-19 ใครปรับตัวได้ คนนั้นรอด
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่คนรักหนังสือรอคอยให้มาถึงทุก ๆ ปี เสน่ห์คือการเดินเลือกซื้อ เลือกดูหนังสือไปเพลิน ๆ ที่งาน แต่ปี 2020 นี้ไม่สามารถจัดงานได้เพราะโรคระบาด ก็โยกตัวเองไปจัดงานแบบออนไลน์! ที่ทุกคนสามารถเลือกซื้อหนังสือผ่านออนไลน์ได้แบบ 24 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการปรับตัวที่ดีเลยนะคะ สามารถกระตุ้นยอดขาย แถมยังไม่เสียรายได้ด้วย (แต่ก็ขอให้เป็นแบบเฉพาะกิจดีกว่า เพราะทางเราชอบไปเดินงานหนังสือมากกว่าเลือกซื้อออนไลน์ ฮา)
ภาพจาก Facebook : BooK Thai
สำหรับธุรกิจร้านอาหารหลาย ๆ ร้านก็ต้องปรับตัวเป็นการขายแบบ Delivery หรือ Take away เนื่องจากไม่สามารถให้ลูกค้าทานที่ร้านได้ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ Food Delivery ก็คือ ร้านอาหารประเภท Fine Dining ที่เน้นความหรูหรา การจัดจานอย่างสวยงาม และดื่มด่ำบรรยากาศร้านไปพร้อม ๆ กัน จะปรับตัวเข้าหาวงการ Delivery ได้อย่างไร
ขอยกตัวอย่างร้าน Stage ร้านอาหาร Fine Dining สไตล์ฝรั่งเศส ก็ได้ทำเมนูพิเศษขึ้นมาเฉพาะการให้บริการแบบเดลิเวอรี่ รองรับลูกค้าที่อยากทานอาหารที่บ้าน แต่ก็ไม่ทิ้งศิลปะ ความสวยงาม และความอร่อยที่ไม่แพ้ทานที่ร้าน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่ดีมาก ๆ เช่นกัน
ภาพเมนูพิเศษที่ร้าน Stage ทำขึ้นเฉพาะ Delivery
ร้านอาหารแบบโอมากาเสะ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เดิมทีที่เราคุ้นชินกันก็คือการไปนั่งเคาท์เตอร์บาร์ มีเชฟคอยทำอาหารและเสิร์ฟให้ถึงมือ แต่เมื่อทุกคนไม่สามารถไปทานที่ร้านได้ ร้านโอมากาเสะก็ปรับตัวไปทำ Delivery ได้ ยกตัวอย่างร้าน Fillets โอมากาเสะที่ขึ้นชื่อว่าจองยากมาก ก็ทำเมนูสำหรับเดลิเวอรี่ออกมาเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ซูชิ เซ็ต ข้าวหน้าต่าง ๆ ที่วัตถุดิบคุณภาพเหมือนทานที่ร้าน
ภาพเมนูพิเศษของร้าน Fillets
ด้านธุรกิจค้าปลีก ทั้งห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงร้านค้ารายย่อย ได้รับทั้งผลกระทบและโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากสินค้าบางประเภทเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ ผู้บริโภคกักตุนสินค้าจำเป็นมากขึ้น ในขณะที่สินค้าไม่จำเป็นบางอย่าง แทบขายไม่ได้เลย และพฤติกรรมของผู้บริโภคหันไปซื้อของทางช่องทางออนไลน์กัน จากที่มีเยอะอยู่แล้วก็ยิ่งเยอะเข้าไปอีก
ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ทั้งหลายก็ได้ปรับตัวเข้าหาช่องทางออนไลน์ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น และมีบริการจัดส่งให้ถึงหน้าบ้าน แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ที่เราคุ้นเคยก็มีบริการสั่งออนไลน์และจัดส่งแล้วเช่นเดียวกัน
อีกร้านที่ปรับตัวเก่งและไวไม่แพ้รายใหญ่ก็คือร้านเจ้เล้ง ที่ขายทั้งของกินของใช้ หลากหลายมาก ๆ แม้จะยังเปิดขายหน้าร้านอยู่ก็ขายผ่านช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วย มีการทำ Content Marketing ให้เข้ากับสถานการณ์ และเสนอขายสินค้าที่ตรงใจผู้บริโภค เป็นตัวอย่างที่น่านำไปปรับใช้สำหรับร้านค้ารายย่อย
ตัวอย่างการทำ Content Marketing ส่งเสริมการขายและเหมาะสมกับสถานการณ์ของร้านเจ้เล้ง
จากตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจเพื่อฝ่าฟันวิกฤติ Covid-19 เราจะเห็นว่าทุก ๆ ธุรกิจปรับตัวแปรผันตามความต้องการของผู้บริโภค แทบทุกธุรกิจหันหน้ามาพึ่งช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ในฐานะผู้ประกอบการยุคนี้ เราก็ต้องปรับตัวอย่างทันท่วงที และรับมือกับสถานการณ์อย่างมีสตินะคะ แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันค่ะ
ขอบคุณเครื่องมือจาก ZOCIAL EYE