6 รูปแบบ Startup ที่น่าสนใจ

Startup Thailand 2017 เพิ่งผ่านพ้นไป และเดี๋ยวนี้ใครๆก็อยากจะเป็นสตาร์ทอัพ วันนี้เฟื่องเลยรวบรวม “” มาให้ทุกคนได้ลองศึกษากันดูก่อน เผื่อใครถนัดสาขาไหน มีไอเดียปิ๊งๆ เห็นปัญหาที่อยากจะแก้จะได้เห็นภาพใหญ่กว้างๆพร้อมๆกันนะคะ

1. E-Commerce :
Electronic Commerce หรือที่เรียกว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การประกอบธุรกิจการค้าผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ หรือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นช่องทางที่มีความสำคัญที่สุดและได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยมีระบบอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในการเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายให้เกิดการค้าระหว่างกัน

ตัวอย่างสตาร์ทอัพที่เป็น E-Commerce ก็เช่น Alibaba ของ Jack Ma จากจีน, Amazon จากฝั่งอเมริกา, lazada ที่คนไทยคุ้นเคย (และถูกซื้อโดย Alibaba ไปแล้ว) หรือ 11th street จากเกาหลี เป็นต้น

สตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เป็น market place ให้คนหรือแบรนด์ต่างๆมาวางขายสินค้าของตัวเอง และเก็บค่าหัวคิวจากรายได้ เปรียบเหมือนห้างห้างนึง ที่ไม่ต้องลงทุนเสียค่าเช่าที่

แต่แนะนำว่า… อย่าทำสตาร์ทอัป E-Commerce เลยค่ะ ยากมากๆที่เราจะไปไฝว้กับเจ้าตลาดที่เค้ามาก่อนแล้ว เพราะหัวใจสำคัญของการแข่งขันใน Field นี้คือ เม็ดเงินที่จะไปหาคนมาใช้แพลตฟอร์มนั่นเอง

2. FinTech :
ไม่ใช่เทคแบบฟินๆ แต่ย่อมาจาก Financial Technology แปลเป็นไทยคือ เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเงิน ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการจัดการด้านการเงิน และช่วยเหลือการเงิน นักลงทุน สินเชื่อ เข้ามาแก้ปัญหาตั้งแต่การรับชำระเงิน การลงทุน การจัดการด้านการกำกับดูแล ฯลฯ

(อยากรู้เรื่อง Fintech เยอะๆ เข้าไปอ่านบทความเฟื่องใน Digital Ventures ได้ทุกเดือนนะคะ #ฝากร้านนิด 55)

ตอนนี้ก็เป็นสาขาที่มาแรงมากๆ เติบโตมากๆ และมีโอกาสมากๆ ในไทย

3. AgriTech :
Agricultural Technology หรือ เทคโนโลยีทางการเกษตร อันนี้เฟื่องว่าเป็นสาขาที่ถ้าทำสำเร็จ คนไทยจะได้เปรียบมาก เพราะบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีทรัพยากรมากโขอยู่แล้ว การเอาเทคโนโลยีมาช่วย ก็อาจเช่น ติดเซนเซอร์วัดความชื้นและอุณหภูมิไว้ที่พืช และใช้ IoT มาทำให้เมื่อต้นไม้ขาดน้ำ ขาดสารอาหาร เครื่องรดน้ำก็จะทำงานเอง เมื่อได้ระดับก็หยุดเอง เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด เป็นต้น

หรือแม้แต่กระทั่งแแพลตฟอร์มเพื่อเกษตรกรได้มีโอกาสมาค้าขายโดยตรงกับผู้บริโภค ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็นับเป็น AgriTech ได้เช่นกัน

ตัวอย่าง Startup เช่น GetKaset, Lennam เป็นต้น

EdTech :
Education กับ Technology หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยีการสอน การศึกษาถือเป็นส่วนสำคัญในการบ่มเพาะสร้างคนมาพัฒนาชาติ จึงเกิดพัฒนาให้มีเรียนการสอนที่ผ่านอินเทอร์เน็ตแบบ On-Demand ให้เข้าถึงได้ทุกที่ และ ยังมีสื่อการเรียนการ สอนรูปแบบใหม่ๆผ่านเว็ปไซต์ หรือ แอพพลิเคชั่น ทำให้น่าสนใจมากขึ้น

ที่น่าสนใจของไทยก็เช่น Globish อังกฤษแนวใหม่ใครๆก็พูดได้ , SkillLane

E-Service :
Electonic กับ Service หรือที่เรียกว่า บริการออนไลน์ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว เช่น การสมัครบริการของค่ายมือถือผ่านแอพ หรือ บริการซื้อสินค้าออนไลน์จากร้านผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

โอกาสในสาขานี้อาจเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เรา และเสนอบริการให้กับภาครัฐ

Internet of Things :
IoT หรือที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง เป็นเทคโนโลยี การเชื่อมโยงสิ่งของ หรืออุปกรณ์ เช่น อาคาร บ้าน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้สามารถเชื่อมต่อและควบคุมได้ระยะไกลผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ บนอินเทอร์เน็ต พูดง่ายๆคือต่อไปในปี 2020 สิ่งของจะคุยกันเองได้

เป็นโอกาสที่เราจะจับเทรนด์นี้และไปกับเขาในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม หลายคนพอมีไอเดีย ไม่ค่อยกล้าบอกคนอื่น เพราะกลัวโดนก๊อป.. จากที่เคยคุยกับสตาร์ทอัปหลายๆคนมา เชื่อเถอะค่ะว่าไอเดียเปรียบเสมือนของฟรี การลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงต่างหากที่ยากกว่ามาก

ดังนั้นเฟื่องแนะนำง่ายๆ ทำอะไรก็ได้ที่คุณสามารถตื่นขึ้นมาพร้อมมันได้ทุกวัน ไม่ว่าจะเจอปัญหาอุปสรรคอะไรก็ตาม ก็ยินดีจะสู้ไม่ถอย
บอกความฝันนั้นออกไปบ่อยๆ เพื่อหาเพื่อนร่วมกระบวนการ และเพื่อตอกย้ำตัวเองไปด้วย

เป็นกำลังใจให้คนมีฝันทุกคนนะคะ