เมื่อทุกอย่างในชีวิต ถูกคิดเป็นคะแนน

เคยจินตนาการถึงโลก Dystopia ที่ได้รับผลกระทบด้านมืดจากเทคโนโลยีไหมคะ แฟนคลับซีรีส์ Black Mirror จาก Netflix น่าจะคุ้นเคยกับธีมนี้อยู่บ้าง เพราะแต่ละตอนของซีรีส์นี้เลือกด้านมืดของเทคโนโลยีในอนาคตมาเล่าตีแผ่ให้เห็นหลากหลายมุมในแต่ละตอน

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทุกคนมีแต้มคะแนนทางสังคมที่ชี้วัดว่าใครเป็นคน “ดี” กว่ากัน” ?


นี่คือสิ่งที่ซีรีส์ Black Mirror ตอน Nosedive ตั้งคำถามค่ะ… ด้วยคอนแทคเลนส์ที่ใช้เทคโนโลยี Augmented-reality และ App ที่จัดเก็บคะแนนส่วนตัวของแต่ละคน วินาทีที่เห็นใครคนหนึ่งเดินมา เราจะสามารถเห็นคะแนนทางสังคมของทุกคนรวมถึงเรทให้คะแนนได้ว่าคนรอบตัวเป็นคนดีแค่ไหน คะแนนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความประพฤติของแต่ละคน ซึ่งจะส่งผลต่อสิทธิประโยชน์ทางสังคม ที่แต่ละคนได้รับการให้คะแนนแบบนี้เรียกอีกอย่างว่า “Social Credit Score”

Credit: Netflix

หลายคนที่เคยดูซีรีส์แล้วอาจถึงกับต้องขนลุก เมื่อการให้คะแนนทางสังคม ซึ่งดูเป็นเทคโนโลยีในโลกอนาคตที่ไกลตัวมากในซีรีส์ เกิดขึ้นจริงแล้วที่จีน เรียกว่า Zhima Credit และกลายเป็นข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แม้ระบบจะไม่เหมือนกันซักทีเดียว แต่ก็มีความคล้ายกันมาก คือ มีการเพิ่มคะแนนเมื่อทำดี เช่น เมื่อบริจาคเงินให้องค์กรการกุศล ทำตามกฎสาธารณะ คะแนนจะเพิ่มขึ้น และลดคะแนนเมื่อมีความประพฤติไม่เหมาะสม เช่น ฝ่าฝืนกฎจราจร สูบบุหรี่ในที่หวงห้าม แซงคิวซื้อสินค้า เป็นต้น

Credit: Netflix

คนที่มีคะแนนทางสังคมสูงจะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆตามมา เช่น ได้วีซ่าแบบพิเศษ ได้รับโปรโมชั่นพิเศษสำหรับจองโรงแรมและเช่ารถ กู้เงินได้เร็วขึ้น เป็นต้น ในขณะที่คนที่มีคะแนนต่ำจะถูกตัดสิทธิต่างๆ เช่น ไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินได้ ไม่สามารถสมัครงานตำแหน่งดีๆจากหน่วยงานของรัฐบาลได้ ระบบนี้อยู่ในความดูแลของรัฐบาลจีนและบริษัทในเครือ Alibaba โดยจะมีการใช้อย่างเต็มรูปแบบทั่วประเทศในปี 2020

สิ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่างการให้คะแนนทางสังคมของจีนกับ Black Mirror คือ ในโลกแห่งความจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้นั้น ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเดินไปตามถนน แล้วเรทให้คะแนนคนอื่นมากหรือน้อยตามความคิดเห็นส่วนตัวของเราเหมือนในซีรีส์ได้เลยนะคะ  Social Credit Score ของจีนถูกออกแบบมาให้มีจุดประสงค์ ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดว่า อะไรคือนิยามของพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีบ้าง ซึ่งในเบื้องต้นเป็นกฎและมารยาทในที่สาธารณะ เพราะจีนมีปัญหาเรื่องชื่อเสียงที่ไม่ดีด้านความประพฤติในที่สาธารณะของคนในประเทศ  ประเด็นทีน่าสนใจอีกแง่คือ ความจริงแล้ว คำว่า Social Credit ในภาษาจีน หรือ 社会信用 (Shehui Xinyon) นั้น มีความหมายที่แปลออกมาตรงกว่าคำว่า Social Credit นั่นคือ Public Trust หรือ การสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลจีนที่อยากใช้ ข้อมูลของประชาชนมาช่วยสร้างเครดิตที่บ่งบอกความน่าเชื่อถือของแต่ละคน  โดยมุ่งหวังจะให้ช่วยแก้ปัญหาหลายเรื่อง เช่น การขายสินค้าปลอมที่จีนมีปัญหา

ความเป็นไปได้ในอนาคต
กล่าวได้ว่า สำหรับจีนนั้น การนำระบบ Social Credit มาใช้เป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ มาเสริมความน่าเชื่อถือ จากที่ทุกวันนี้เราใช้กันเพียงแค่ Financial credit  หรือ ความน่าเชื่อถือทางการเงิน ในอนาคตจะเป็นยุคของ Big Data ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคะแนนทางสังคม ข้อมูลส่วนตัวด้านสุขภาพ พฤติกรรมในโซเชียลมีเดีย การซื้อของออนไลน์ และอื่นๆอีกมากมาย จะกลายเป็นข้อมูลที่รัฐบาลและบริษัทต่างๆหยิบมาใช้มากขึ้น ทำให้มีคนบางกลุ่มที่ได้สิทธิพิเศษไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ พวกเราต่างเริ่มให้คะแนนทางสังคมกันเองผ่านโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว คนที่มียอด Like หรือ Follower เยอะ มักเป็นกลุ่มคนที่ได้สิทธิพิเศษต่างๆ จากการได้รับความนิยมนั้น ด้านมืดของโซเชียลมีเดียจึงมีความคล้ายด้านมืดของ social credit score ที่ Black Mirror คาดการณ์ คือ การเกิดสงครามแห่งแต้มคะแนนที่ทุกคน พยายามทำดีแบบปลอมๆเพื่อให้คนรอบตัวพอใจและคะแนนนิยมสูงขึ้น แม้ตัวเองไม่มีความสุข แต่ยังต้องแสร้งมีความสุขและเป็น “คนดีหรือคนที่ได้รับความนิยมในแบบที่สังคมนิยาม” ให้คนอื่นเห็นตลอดเวลา

ไม่ว่าภายหน้าเราทุกคนจะเดินเข้าไปเจอจุดจบด้านมืดใกล้เคียงกับในซีรีส์ Black Mirror แค่ไหน  สิ่งที่เราควรตระหนัก คือ เริ่มมีการให้คะแนนและการเก็บข้อมูลตัวเราใน platform ต่างๆมากขึ้นทุกวันและจะมีมากขึ้นอีกในอนาคต เราจึงควรรู้ว่า ใครที่เก็บข้อมูลเราไปบ้าง สามารถเอาข้อมูลเราไปทำอะไรได้บ้าง และทำไมถึงอยากเอาข้อมูลเราไปใช้

เพราะ Data ทุกอย่างในชีวิตสามารถนำไปคิดเป็นคะแนนได้จริงๆค่ะ

สนับสนุนความรู้เทคโนโลยีดีๆโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

แสดงความเห็น