“แค่ล้อเล่น คิดอะไรมาก”, “โพสต์ขำๆ ไม่ได้แกล้งซะหน่อย”, “ทำใจเถอะ เรื่องแบบนี้ใครๆ ก็โดน” และคำอื่นๆอีกมากมาย เพื่อนๆเคยเห็นประโยคแบบนี้ผ่านหูผ่านตาในโซเชียลมีเดียบ้างหรือเปล่าครับ นี่เป็นส่วนหนึ่งจากอีกหลายร้อยหลายพันข้อความตาม Facebook, LINE, Twitter, Instagram ที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ มีตั้งแต่ประโยคล้อเลียน พูดจาหยาบคาย จนถึงขั้นขู่ทำร้าย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพฤติกรรมกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์หรือที่เรียกว่า Cyberbullying กำลังเป็นปัญหาที่ขยายตัวมากขึ้นไม่ว่าในต่างประเทศหรือประเทศไทยเองก็ตาม
Cyberbullying จริงๆ แล้วคืออะไร ?
Cyberbullying ถูกพูดถึงมาเป็นเวลานานพอสมควร แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่ยังขาดความเข้าใจถึงคำ ๆ นี้ Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ด้วยข้อความในทางให้ร้าย, โพสต์ภาพหรือวิดีโอ และการแชร์ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เพื่อโจมตีบุคคลอื่น ทำให้เกิดความอับอายและเสียหาย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความคึกคะนอง ความเกลียดชัง
แบบไหนนะเรียกว่า Cyberbullying?
ทางข้อความ
ข้อนี้เป็นสิ่งที่เห็นบ่อยที่สุดเลยค่ะทางโซเชียลมีเดียมี การใช้ข้อความเพื่อล้อเลียน ใช้คำหยาบ ใส่ร้าย จนถึงขั้นขู่ทำร้าย เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัวและรู้สึกอับอาย แล้วยิ่งเป็นตัวอักษรไม่เห็นหน้ากัน ไม่ได้ยินน้ำเสียง คนที่อ่านอาจจะมีการตีความไปเป็นความหมายอื่นได้มากมาย ก่อนที่เราจะพิมพ์อะไรเข้าไปในโลกออนไลน์อาจจะต้องคิดให้ดีก่อนแล้วค่อยกดส่ง เพราะบางทีเราไม่ได้คิดอะไร แต่มันอาจจะทำให้คนอื่นถูกตีความเป็นแบบอื่นก็เป็นได้ครับ
ทางรูปภาพและ วิดีโอ
รูปภาพก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีเยอะเช่นกัน และการตัดต่อถือเป็นเรื่องง่ายมากในยุคนี้ การนำรูปภาพหรือ คลิปวิดีโอ มาตัดต่อแล้วเผยแพร่เพื่อให้เกิดความเสื่อเสีย อับอาย หรือทำให้เข้าใจผิด ก็ถือว่าเป็นการ Cyberbullying เช่นกันครับ
การแอบอ้าง
การอาศัยโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสร้างแอคเคาท์ปลอม สวมรอยเป็นเจ้าของตัวจริง เพื่อสร้างความเสียหายในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การโพสต์ข้อความให้ร้ายผู้อื่น, แอบอ้างบัญชีว่าเป็นของเจ้าของตัวจริง แล้วหลอกให้ผู้อื่นโอนเงิน เป็นต้น
ผลร้าย และวิธีรับมือกับ Cyberbullying
จากงานสำรวจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เมื่อปี 2561 พบว่าเด็กไทยที่มีอายุระหว่าง 8-12 ปี มีโอกาสเสี่ยงจากภัยออนไลน์ โดยเฉพาะ Cyberbullying มากที่สุด สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
เมื่อภัย Cyberbullying ล้วงล้ำมาถึงชีวิตส่วนตัวของเรา ผลกระทบที่ตามย่อมทำให้ผู้เสียหายเกิดอาการซึมเศร้า หดหู่ ยิ่งใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ อาการดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง เกิดความเครียด จนนำไปสู่โรคซึมเศร้า และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย
หากเราไม่อยากเป็นหนึ่งในผู้ที่ตกอยู่ด้านมืดของโลกออนไลน์ การใช้โซเชียลมีเดียควรระมัดระวังและใส่ใจทุกครั้งเวลาโพสต์ แม้กระทั่งการคอมเมนต์ใด ๆ ก็ตาม เพราะสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร อาจกระทบจิตใจคนๆ นั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
ผู้ที่โดน bully ก็เช่นกัน การตอบโต้ด้วยการคอมเม้นท์หรือแชร์ ก็เสมือนการเปลี่ยนบทบาทตัวเองให้กลายเป็นผู้ร้ายบนโลกออนไลน์ได้ หากเป็นเช่นนั้น Cyberbullying จะเป็นเรื่องราวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบ
การเลิกติดตาม, บล็อก เป็นเครื่องมือของโซเชียลมีเดียที่ช่วยสกัดกั้นพวกที่เข้า bully ได้ และหากว่ายังไม่มีทีท่าว่าจะจบ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยคุ้มครองและรักษาสิทธิผู้เสียหาย รวมถึงใช้ลงโทษต่อผู้กระทำผิดได้ด้วย
รู้แบบนี้แล้ว ครอบครัวหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่รอบข้างเมื่อรู้ว่าลูก บุตรหลานกำลังประสบกับ Cyberbullying ควรเริ่มต้นด้วยการเปิดตา เปิดใจ รับฟัง สร้างพื้นที่ที่ให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับความสบายใจ กล้าที่จะเปิดอกเล่าถึงปัญหา ไม่คิดว่าเป็นการแกล้งกันตามประสาเด็ก เพราะอาจทำให้ปัญหาลุกลาม ไม่ใช้คำพูดซ้ำเติม ให้คำแนะนำ หรือปรึกษาแพทย์
สุดท้ายแล้ว ที่มาของความทุกข์ ความเจ็บปวดทางใจ ซึมเศร้า หดหู่ เราอาจรู้อยู่แก่ใจว่าแท้จริงแล้ว เกิดจากสิ่งใกล้ตัวที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย ซึ่งน่าเศร้าที่เทคโนโลยีที่ให้คนทั้งโลกเชื่อมถึงกันได้ กำลังย้อนกลับมาทิ่มแทงเราด้วยน้ำมือของคนด้วยกันเอง