ในอนาคตผู้ป่วยอัมพาตอาจจะกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้! เรื่องนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ยังไง มาไขคำตอบผ่านการทำความรู้จักนวัตกรรม Neuralink ไปด้วยกันนะคะ
Neuralink คืออะไร ?
Neuralink เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ของ Elon Musk โดยนวัตกรรมหลักที่บริษัทนี้ทำคือเชื่อมโยงสมองคนเข้ากับชิปคอมพิวเตอร์ แล้วแปลงคำสั่งของสมองออกมาเป็นการกระทำจริง ๆ
เป้าหมายหลักของ Neuralink ในตอนนี้คือเพื่อรักษาผู้ป่วยอัมพาต พิการ ตาบอด ไปจนถึงผู้ป่วยซึมเศร้า หรือผู้ที่มีอาการเสพติดเลยค่ะ
กระบวนการที่ Neuralink ใช้เรียกว่า BCI (Brain-Computer Interface) หรือบางครั้งก็ใช้ชื่อว่า BMI (Brain-Machine Interface) ค่ะ ซึ่งการพัฒนา BCI ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายนะคะ ตั้งแต่นักประสาทวิทยาศาสตร์, แพทย์, นักคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงวิศวกรชีวการแพทย์เลย
ขั้นตอนการทำงานของระบบ BCI จะเป็นแบบนี้ค่ะ
- นำเครื่อง EEG (Electroencephalogram) มาจับภาพสัญญาณไฟฟ้าที่บริเวณสมอง
- วัดสัญญาณสมองและส่งค่าไปที่คอมพิวเตอร์
- วิเคราะห์และแยกแยะสัญญาณสมอง
- แปลสัญญาณที่เกิดขึ้นและแสดงผล
- นำผลลัพธ์ไปเป็นคำสั่งควบคุมอุปกรณ์
หรือสรุปง่าย ๆ ว่า Neuralink จะเป็นอีกเทคโนโลยีในอนาคต ที่ทำให้มนุษย์สั่งงานและควบคุม Device ต่าง ๆ ผ่านความคิดในสมองเท่านั้น ไม่ต้องมาคอยนั่งคลิกเมาส์ หรือกดคีย์บอร์ดอีกแล้วค่ะ
ตอนนี้ Neuralink พัฒนาไปถึงขั้นไหนแล้ว ?
ในโปรเจกต์นี้ Elon Musk ได้แพลนการพัฒนาไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอัปโหลดสมองของเราลงบน Cloud การย้ายสมองของเราไปใส่ไว้ในหุ่นยนต์ การสั่งการรถยนต์ผ่านคลื่นสมอง หรือแม้แต่การย้อนดูอดีตเหมือนในหนัง Black Mirror ก็มีค่ะ
และถึงแม้ว่าการที่จะเปลี่ยนคนธรรมดาอย่างเราให้กลายเป็น Cyborg คงยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทาง Neuralink เองก็มีการพัฒนาและการทดลองออกมาให้เราได้เห็นอยู่ตลอด
หลาย ๆ คนคงเห็นข่าวว่าเมื่อปีที่ผ่านมาทาง Neuralink ได้ Live Demo โชว์การทำงานจริงของ Neuralink ซึ่งใน Live ได้มีการโชว์หมู 3 ตัว ค่ะ
- ตัวแรก ไม่ได้ฝังชิป Neuralink
- ตัวที่สอง เคยฝังชิป Neuralink แต่เอาออกไปแล้ว แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราตัดสินใจฝังชิป แล้วอนาคตเกิดอยากเอาออก หรืออยากเปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ทำได้นะคะ ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าจะไม่ได้รับบาดเจ็บ และน้องหมูตัวที่สองนี้ก็ยังแข็งแรงดีค่ะ
- ส่วนตัวที่สาม น้องหมูได้ฝังชิป Neuralink ลงไป โดยสัญญาณนี้จะเชื่อมต่อกับจมูก เวลาที่หมูใช้จมูกดมกลิ่นหรือสัมผัสกับสิ่งของก็จะมีคลื่นสัญญาณปรากฏให้เห็นแบบเรียลไทม์
Neuralink ที่ใช้ฝังในหมูรุ่นนี้เป็น version 0.9 ดีไซน์เป็นลักษณะกลมแบน ใครเคยดู Black Mirror น่าจะคุ้นตานะคะ โดยตัวเครื่องนี้จะฝังเข้าไปในกะโหลก แล้วเชื่อมต่อกับสมองด้วยเส้นใยขนาดเล็กกว่าเส้นผมหลายเท่า ซึ่งทางบริษัทเคลมว่าสมองจะไม่ได้รับการกระทบกระเทือน ใช้เวลาติดตั้งไม่ถึงชั่วโมง และไม่ต้องวางยาสลบ เพราะเป็นเพียงการผ่าตัดขนาดเล็กเท่านั้นค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีการทดลองฝังชิปแบบ wireless เรียกว่า ‘N1 Link’ ลงในสมองส่วนที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลิงที่ชื่อ ‘เพจเจอร์’ แล้วทดลองให้มันควบคุมเกม ‘Mind Pong’ หรือเกมบังคับแผ่นกระดานขึ้นลงเพื่อตีลูกกลม ๆ กลับไปหาฝั่งตรงข้ามด้วยค่ะ ผลลัพธ์คือเจ้าลิงตัวนี้สามารถเล่นเกมได้โดยมันจะพยายามขยับมือขึ้นลงตามจังหวะของเกม ทางบริษัทเลยมีแผนต่อไปคือจะลองให้ลิงสองตัวมาเล่น Mind Pong แข่งกัน ต้องรอติดตามกันต่อไปนะคะ
Neuralink จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยอัมพาตยังไงบ้าง ?
โดยปกติแล้ว การเคลื่อนไหวของคนเกิดจากเซลล์ประสาท (neurons cells) ส่งสัญญาณประจุไฟฟ้า (electrical spikes) ผ่านเส้นประสาททำให้เราสามารถพูดหรือขยับได้ค่ะ เพราะฉะนั้น การที่ชิปสามารถอ่านสัญญาณจากระบบประสาทของเราได้ จะยิ่งทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายผ่าน Neuralink ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น
ซึ่งตอนนี้ Neuralink ผ่านการรับรองจาก FDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) ด่านแรกแล้วนะคะ แสดงว่าเร็ว ๆ นี้ เราน่าจะได้เห็นการทดสอบ Neuralink กับคนจริง ๆ แน่นอน
แม้จะฟังดูน่ากลัวที่ต้องฝังอะไรลงสมอง แต่สำหรับคนที่มีปัญหาอย่างผู้ป่วยอัมพาต อะไรที่พอจะทำให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติได้ก็คุ้มค่าที่จะลองดูนะคะ
จากที่เห็นเป็นผลสำเร็จกับมนุษย์เลยคือเมื่อปี 2013 รัฐบาลสหรัฐให้ทุนทำวิจัยโครงการ BRAIN (Brain Research through Advancing Innovative Neurotechnologies) ซึ่งดูเหมือนการวิจัยนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีนะคะ เพราะช่วยให้นักประสาทวิทยาศาสตร์ที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) เขียนใบสมัครขอรับทุนวิจัยและส่งอีเมลด้วยการเชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ในห้องแล็บของเขาเองได้
นวัตกรรมแบบ Neuralink มีข้อเสียอะไรไหม ?
จากการวิเคราะห์ข้อกังวลของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของการฝังสิ่งหนึ่งเข้าไปในร่างกายของมนุษย์คือร่างกายอาจเกิดการต่อต้าน และจำเป็นต้องกินยากดภูมิที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายของเราอีกทีค่ะ หรือแม้ร่างกายไม่ต่อต้านก็อาจเป็นเรื่องของระยะเวลาในการสวมใส่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปอาจจะมีพังผืดหรือบางส่วนของร่างกายไปรบกวนอุปกรณ์จนเป็นอุปสรรคในการนำไฟฟ้าหรือคลื่นสมองได้ค่ะ
ที่สำคัญ ยังมีข้อกังวลเรื่อง Privacy หรือความปลอดภัยของข้อมูลสมองแต่ละคนด้วยนะคะ เพราะถ้าเทคโนโลยีนี้แพร่หลาย ก็มีสิทธิที่คลื่นสมองของเราอาจถูกบริษัทหรือใครก็ตามนำไปอัปโหลดลงบนอินเทอร์เน็ตได้ เลยไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีการออกกฏหมายป้องกันการขายข้อมูลทางสมอง เหมือนกับการห้ามซื้อขายอวัยวะก็ได้นะคะ
คงต้องรอติดตามกันต่อไปนะคะว่าทางบริษัท Neuralink จะพัฒนานวัตกรรมนี้ไปได้ไกลถึงขั้นไหน แต่ไม่ว่ายังไง เราเชื่อว่านวัตกรรมนี้จะเข้ามาพลิกชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อยแน่นอนค่ะ